ในทุกๆ วัน ‘ขยะ’ ที่ถูกทิ้งไป อาจถูกมองว่าไม่มีคุณค่า แต่แท้จริงแล้ว ขยะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ผ่านกระบวนการ ‘upcycling’ หรือการแปรรูปขยะให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ของใช้ในชีวิตประจำวันเหล่านี้สามารถเกิดจากการใช้ไอเดียและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเปลี่ยนขยะให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่า และลดการสร้างของเสียที่ไม่จำเป็น
สำหรับประเทศไทย ขยะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ ‘Circular Economy’ แต่การจัดการขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ปัจจุบันสถานที่กำจัดมูลฝอยกว่า 90% ในประเทศ ไม่ได้รับการจัดการถูกต้องตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล ส่งผลให้เกิดมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการรีไซเคิลและการ upcycle จึงเป็นทางเลือกสำคัญในการลดปริมาณขยะในระยะยาว
จากงาน Sustainability Expo 2024 มีการพูดถึงการเปลี่ยนมูลค่าของขยะ ผ่านหัวข้อ ‘Upcycling Waste: ไอเดียเก๋จากการชุบชีวิตขยะ เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืน’ ผ่าน 3 มุมมอง ‘ชณัฐ วุฒิวิกัยการ, Content Creator ช่อง KongGreenGreen’ ; ‘สมภพ มาจิสวาลา ผู้พัฒนา Recycoex’ ; และ ‘วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์, ศิลปิน BAB’
‘ชณัฐ’ มองว่า ขยะ คือ ทรัพยากรที่ถูกนำไปไว้ผิดที่ จริงๆ แล้ว สิ่งที่มนุษย์ใช้และนำไปทิ้ง คือ ทรัพยากรที่สามารถนำมาหมุนเวียนได้ เช่น เศษอาหารที่ถูกมองว่า 1-2 วันก็จะเน่าแล้ว แต่ถ้ามีการจัดการได้ถูกวิธี เช่น นำเศษอาหารมาทำเป็น ‘ปุ๋ย’ หรือ ‘ก๊าซหุงตุ้ม’ ก็สามารถกลับมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนได้
บางสิ่งที่หลายคนมองเป็น ‘ขยะ’ หากนำมารีไซเคิลแล้ว สามารถนำมาหมุนเวียนได้ 100% แต่เมื่อถูกนำไปวางไว้ผิดที่ เช่น ถูกฝั่งกลบอยู่ที่ใดที่หนึ่งแล้วตกข้างอยู่ หลุดรอดไปสู่ธรรมชาติ หรือไปอยู่ในที่ๆ ไม่ถูกต้อง เช่น จมูกเต่า ท้องของสัตว์ทะเล ก็จะมีผลกระทบตามมา แต่หากมีการจัดการวัตถุดิบทรัพยากรเหล่านี้ให้ถูกต้อง มนุษย์ก็จะสามารถหมุนเวียน และลดการใช้ทรัพยากรใหม่ๆ ได้
ส่วน ‘วิชชุลดา’ มองในอีกมุมหนึ่งว่า โลกอาจจะไม่มีขยะก็ได้ เพราะทุกอย่างมี ‘คุณค่า’ มนุษย์เพียงต้องใส่ไอเดีย และความสร้างสรรค์ลงไป เพื่อเปลี่ยนจาก ‘ความไร้ค่า’ ให้เกิด ‘มูลค่า’ ให้ได้ ซึ่งนอกจากสร้างมูลค่าผ่านการนำมาใช้งานแล้ว ยังสามารถสร้างคุณค่าในเชิงของผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้ที่มาสร้างสรรค์ ที่มาออกแบบดีไซน์ มีการจ้างงาน สร้างงาน สร้างอาชีพได้ด้วย
ในขณะที่ ‘สมภพ’ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงกระบวนการในการสร้างของ 1 ชิ้น เช่น ‘ถุงพลาสติก’ ทำมาจากปิโตเรียมที่ต้องไปขุดขึ้นมา โลกใช้เวลาสร้างวัตถุดิบพวกนี้เป็นล้านๆ ปี กว่าจะถลึงน้ำมันขึ้นมาเป็นเม็ดพลาสติก มาผลิตเป็นถุงพลาสติก กระบวนการมันรบกวนโลก แต่มนุษย์กลับใช้ถุงพลาสติกแค่ 5-10 นาที ก็ทิ้งแล้ว ถ้าหากมีการตระหนักถึงตรงนี้มากขึ้น โลกจะถูกรบกวนน้อยลงดี
จุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชัน ‘Recycoex’ มาจากปัญหาที่ ‘สมภพ’ ได้เจอในวงการสถานปนิก นั่นก็คือ ขยะที่นำมาเปลี่ยนเป็นวัสดุก่อสร้าง มีจำนวนไม่เพียงพอ แต่ขยะกลับล้นในภาคประชาชน ทำให้เกิดปัญหาของต้นน้ำกับปลายน้ำไม่มาเจอกัน ตนจึงคิดคอนเซปท์แก้ปัญหาตรงนี้ ผ่านทำแอปพลิเคชัน ‘Recycoex’ เพื่อให้การขายขยะเป็นเรื่องง่าย โดยรับซื้อขยะจากแอปเหมือนกดสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี เน้นขยะจากโรงเรียน โรงแรม หรือศูนย์การค้าที่มีขยะจำนวนมาก
ส่วน ‘ชณัฐ’ เผยว่า จุดเริ่มต้นของ KongGreenGreen มาจากการที่ตนเป็นประชาชนทั่วไปที่มีใจอยากเริ่มแยกขยะ อยากทำให้ชีวิตเป็นมิตรกับโลกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อเริ่มการแยกขยะ ไม่รู้จะถามใคร เนื่องจากตนไม่ได้ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียน ไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจน ค้นหาบนโลกออนไลน์ก็จะเจอข้อมูลง่ายๆ เช่น การทิ้งขยะในถังสีเหลือง ถังสีเขียว แต่สุดท้าย ขยะทุกประเภทถูกทิ้งรวมอยู่ดี
ตนไม่อยากสร้างขยะไปกองทับถมบนกองภูเขาขยะ จึงเริ่มมีการศึกษาหาความรู้ผ่านการค้นหาด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ต่อมาจึงแบ่งปันความรู้ TikTok โดยใช้ทักษาจากอาชีพเดิม นั่นก็คือ ‘คนทำสื่อทีวี’ บวกกับสิ่งที่อยากจะบอกคนอื่น
“ถ้าเราแยกขยะคนเดียว โลกก็ไม่ได้ดีขึ้น เราเลยชวนคนอื่นมาทำด้วย ผ่านการทำสื่อ ให้คำตอบที่อยากจะใชีชีวิตเป็นมิตรกับโลกด้วย พอเป็นช่องแรกๆ โควิด พอเราล็อกดาวน์ ขยะมันเยอะ คนเลยตระหนักมากขึ้น ที่ผ่านมาเราสร้างขยะกันมากขนาดนี้เลยหรอ เลยมีเพื่อนมากขึ้น” ชณัฐ กล่าว
ในขณะที่ ‘วิชชุลดาแบรนด์’ เกิดขึ้นจากการที่ ‘วิชชุลดา’ มองเห็นสิ่งของใกล้ตัว แล้วเกิดความรู้สึกสนุก จึงนำวัสดุเหลือใช้ มาสร้างเป็นสิ่งของประดับดีไซน์ ด้วยการมองเห็นคุณค่าตรงนั้น จากจุดเริ่มต้นที่ลงมือทำคนเดียว เริ่มพัฒนาชวนพ่อแม่มาทำด้วย ตอนนี้ขยายไปสู่ระดับชุมชนแล้ว
ทุกครั้งที่ตนมีโอกาสได้พูดถึงเรื่องนี้ ‘วิชชุลดา’ บอกทุกคนเสมอว่า “จริงๆ แล้ว เราลองดูว่า เราถนัดอะไร เราชื่นชอบอะไร แล้วลองเอาสิ่งที่เราถนัดหรือชอบ เอามาประยุกต์ใช้ในแง่ของความยั่งยืน บางคนไม่ได้จบศิลปกรรม สถาปัตย์ ซึ่งไม่จำเป็น ไม่ต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ เพียงแค่ถนัดอะไร ทำสิ่งนั้น เอาสิ่งที่ตัวเองถนัดมาทำ แล้วให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
‘ชณัฐ’ เล่าให้ฟังว่า การกำจัดขยะของประเทศไทย หลักๆ คือ ‘การฝังกลบ’ ซึ่งต้องมีสิ่งที่เป็นพื้นที่บ่อขยะ แต่เมื่อมีโอกาสไปดูจริงๆ ตนพบว่า บ่อขยะได้กลายเป็นภูเขาขยะสูงขึ้นมา ขยะถูกขนไปกองไว้ตรงนั้น โดยขยะที่หลุดรอดจากการคัดแยก สุดท้ายจะไปกองอยู่ที่ภูเขาขยะ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยในจำนวน 2,000 แห่งนี้ มีสถานที่ที่กำจัดไม่ถูกวิธีตามหลักวิชาการและหลักสุขาภิบาลเกือบ 90% ซึ่งการเทกองขยะไว้ หรือการเผาขยะในที่แจ้ง ก่อให้เกิด ‘มลพิษ’ เมื่อฝนตกลงมา กองขยะลงไปสู่แหล่งน้ำได้ และหากมีไฟไหม้บ่อขยะ สิ่งที่ตามมา คือ ‘pm 2.5’
ไม่เพียงเท่านี้ ทรัพยากรจากกองขยะ ไม่ได้เกิดการหมุนเวียน แม้สามารถสร้างมูลค่าได้อีกเยอะ แต่ขยะกลับไปกองตรงนั้นเพื่อย่อยสลายนานกว่า 400-500 ปี โดยการจัดการแยกขยะในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายสูง ยกตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร ประชาชนเสียค่าจัดการขยะ ค่าเก็บขยะเพียงเดือนละ 20 บาท แต่งบที่กทม. ใช้ไปจัดการขยะสูงถึงวันละ 20 ล้านบาท และใน 1 ปี งบใช้จ่ายสูงถึงเกือบ 7,000 ล้านเลยทีเดียว
‘สมภพ’ กล่าวว่า ‘ข้อบังคับ’ และ ‘ความสำคัญ’ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ในเวลาเดียวกัน กลับกำลังเป็นอุปสรรคของการแยกขยะในไทย อย่างในต่างประเทศ ‘หลอดพลาสติก’ แทบไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากมีกฎข้อบังคับที่สั่งให้งดใช้ เนื่องจากสามารถนำมาใช้ได้เพียงครั้งเดียว แล้วถูกนำไปทิ้ง
แต่สำหรับประเทศไทย กลับพบว่า ยังมีการใช้ภาชนะพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอยู่เยอะมาก เช่นในร้านกาฟ ซึ่งมีทั้งแก้ว ฝาแก้ว หลอด รวมถึงถุงหูหิ้วในบางร้าน ถึงแม้ประชาชนบางกลุ่มมีการคัดแยกภาชนะเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้ล้างทำความสะอาด หรือแยกเศษอาหารก่อนนำไปรีไซเคิล ทำให้เกิดความสกปรก ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้
ในขณะที่ ‘วิชชุลดา’ เสริมว่า อยากให้ทุกคนนึกถึงที่มาของสินค้าที่ใช้งานอยู่ เช่น ถุงผ้าที่ทำมาจากพลาสติกสปันบอนด์ แม้จะเป็นถุงผ้าก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ‘พลาสติกสปันบอนด์’ ใช้เวลาย่อยนานพอสมควร พอๆ กับหลอดกาแฟ เพราะฉะนั้น ตนอยากให้ทุกคนหันมาใช้ถุงผ้า ที่ทำมาจากผ้าจริงๆ ดีกว่า
“ถ้าเราจะลด 'ขยะ' ให้คิดตั้งแต่ต้นทาง มองกระบวนการ ตั้งแต่ที่มาของวัสดุ ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งน้ำ ดิน และอื่นๆ มากแค่ไหน บางสิ่ง เรา 'ทดแทน' ได้ ใช้สิ่งของที่มีอยู่ หรือมีการซ่อมแซ่มแทนก็ได้” วิชชุลดา กล่าว
ส่วน ‘ชณัฐ’ เน้นไปถึงผู้ผลิต ให้คำนึกถึงปลายทางไปก่อนที่จะผลิตอะไร อย่างเช่น ‘แก้วกาแฟ’ ในหลายร้านกาแฟและตามคาเฟ่ พบว่าเป็นพลาสติกหลายประเภทมาก ทั้งพลาสติกเบอร์ 1 เบอร์ 5 หรือเบอร์ 6 ซึ่งหากมีการควบคุม ใช้วัสดุประเภทเดียวกัน ก็ทำให้กระบวนการรีไซเคิลเป็นไปได้มากขึ้น
ในขณะที่ผู้บริโภค ต้องคิดกันเยอะๆ ว่า สินค้าแต่ละชิ้นมีกาสร้างขยะกี่ขิ้น จำเป็นต้องมีมั้ย ก่อนที่จะไปถึงคอนเซปท์ ‘3R’ (reduce, reuse, recycle) ทุกคนควรเริ่มจากการ ‘refuse’ กล้าที่จะปฏิเสธ ไม่รับพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตระหนักให้ผู้ขายว่า สิ่งนี้ควรคืนกลับไป ด้วยการกล้าพูด พูดดีๆ สร้างค่านิยมบริการใหม่ๆ ให้พนักงาน
“เวลาไปซื้อของต่างประเทศ ไม่มีใครมานำเสนอพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เราฟรีๆ แล้ว หลอด หรือแม้แต่ช้อนส้อม เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าเราเป็นผู้บริโภค แล้วเรามีสิทธิจะใช้ 'พลาสติกใช้ครังเดียวทิง' เท่าไหร่ก็ได้ ให้เปลี่ยนความคิดว่าสิทธิของเรา คือ 'การไม่รับ' รู้จัก ReThink และ Refuse ก่อน แล้วค่อยตามด้วย 3R Reduce, Reuse, Recycle” ชณัฐ กล่าว
‘วิชชุลดา’ กล่าวสั้นๆ ว่า นอกจากการ refuse และ rethink นั้น การ ‘regenerative’ หรือการมองให้ครบลูปในทุกด้าน มองต้ังแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทุกการใช้ชีวิตของเราในทุกวันนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ดังนั้นแล้ว การ regenerative การมีสติในการคิด ในการใช้บริโคภ หรือการทำงานของตัวเองก็ตามที
ส่วน ‘สมภพ’ เน้นเรื่องความสกปรกของขยะ เริ่มจากแยกเศษอาหารให้ได้ก่อน เพราะเป็นปัญหาหลักของการรีไซเคิล และมีมากถึง 50-60% ของขยะทั้งหมดที่ถูกเก็บโดยซาเล้งในแต่ละวัน รวมถึง เศษกระดาษต่างๆ ก็แยกออกมา
“ประเทศไทยเป็น 'ฮับ' ในเรื่องรีซเคิลได้เลย คนไทยมีจิตสำนักกว่าคนต่างประเทศเยอะ ต่อไปเราพัฒนาดีๆ เราเป็นศูนย์กลางของ 'Circular Economy' ได้เลย เราค่อนข้างมีวัสดุ มีข้อได้เปรียบเยอะ แต่ก็ใช้เวลาเหมือนกัน” สมภพ เผย
ในขณะที่ ‘ชณัฐ’ ปิดท้ายว่า วิธีการเก็บขยะก็สำคัญเหมือนกัน ประเทศไทยมีอัตราการรีไซเคิลที่ 30% แต่ถ้าไทยมีระบบการแยกขยะที่ดี มีการให้ความรู้ ระบบการจัดปลายทางที่ดี ก็จะสามารถหมุนเวียนทรัพยากรได้ดีขึ้น ส่งผลให้อัตรารีไซเคิลสูงขึ้นตาม
สุดท้ายนี้ ‘ขยะ’ คือ ทรัพยากรที่ถูกไว้ผิดที่ ทั้งสามจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคน นำทรัพยากรไว้ให้ถูกที่ ถ้าอยู่ผิดที่ ขยะจะสร้างโทษให้กับมนุษย์นั่นเอง