ธุรกิจการตลาด

‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ในไทยพุ่ง แนะเร่งปรับระบายความร้อน รับดีมานด์โมเดล AI

16 ส.ค. 67
‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ในไทยพุ่ง แนะเร่งปรับระบายความร้อน รับดีมานด์โมเดล AI

ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีโครงการใหม่ 37 โครงการ มูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI, VR และ AR ทำให้ความต้องการการคอมพิวติ้งประสิทธิภาพสูง (HPC) เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม โครงการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการทำงานของระบบระบายความร้อนที่ทำงานหนักขึ้น ซึ่งการระบายความร้อนด้วยอากาศแบบเดิม เริ่มไม่สามารถรองรับภาระงานที่เพิ่มขึ้นและความร้อนที่เกิดขึ้นจาก GPU สมัยใหม่ได้

คุณฉี โหว หลิง รองประธานฝ่ายการจัดการผลิตภัณฑ์ Vertiv Asia กล่าวว่า การใช้คอมพิวติ้งประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการประมวลผลโมเดล AI ต้องการพลังงานและประสิทธิภาพในการระบายความร้อน มากกว่าเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมเป็นอย่างมาก โดยความหนาแน่นของแร็คเริ่มต้นที่ 40 กิโลวัตต์และอาจสูงกว่า 100 กิโลวัตต์ในอนาคต

โดยระบบระบายความร้อนที่เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ คือ ‘การระบายความร้อนด้วยของเหลว’  เนื่องจากการระบายความร้อนด้วยของเหลว มีประสิทธิภาพสูงกว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศถึง 3,000 เท่า ในแร็คที่มีความหนาแน่นสูง ลด PUE และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 

การระบายความร้อนด้วยของเหลวไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งจำเป็น จากการสำรวจของ Dell'Oro Group คาดว่าตลาดการระบายความร้อนด้วยของเหลวจะมีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 และจากการสำรวจของเวอร์ทิฟ พบว่า 17% ของดาต้าเซ็นเตอร์ได้ใช้การระบายความร้อนด้วยของเหลวแล้ว และอีก 61% กำลังพิจารณาใช้

ความท้าทายในการเปลี่ยนระบบระบายความร้อน

การนำการระบายความร้อนด้วยของเหลวมาใช้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์หลายแห่งถูกออกแบบมาเพื่อการระบายความร้อนด้วยอากาศ การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้าง การออกแบบเลย์เอาต์ใหม่ การติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานที่กำลังดำเนินอยู่ไม่ถูกขัดจังหวะ

การบำรุงรักษาระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากระบบนี้ประกอบด้วยปั๊ม ท่อ และกลไกการหมุนเวียนของของเหลว ซึ่งต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การตรวจสอบต่อเนื่อง และแผนการสำรองข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการดำเนินงาน

อีกความท้าทายหนึ่ง คือ การผสานรวมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบการจัดการที่มีอยู่เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งต้องมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ การปรับเปลี่ยนเฟิร์มแวร์ และการทดสอบการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องอุปกรณ์ใช้งานด้วยกันไม่ได้และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น

กลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไฮบริด

ทั้งนี้ Vertiv Asia แนะนำกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านแบบไฮบริดเพื่อลดความยุ่งยาก โดยเน้นสามขั้นตอนหลัก ดังนี้:

  1. สร้างทีมดูแลการระบายความร้อนด้วยของเหลว : ทีมควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญภายในองค์กร ที่ปรึกษา ผู้ผลิต และเวนเดอร์อื่นๆ เพื่อให้คำแนะนำด้านการออกแบบ การเลือก การติดตั้ง และการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮบริด
  2. การเตรียมการอย่างรอบคอบ : ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจควรรวบรวมความต้องการใช้งานและภาระงานทั้งหมดเพื่อวางแผนการใช้งานในอนาคต โดยต้องออกแบบให้รอบคอบและคำนึงถึงงบประมาณ
  3. การบริการโครงการเพื่อการดำเนินงานและบำรุงรักษาระบบใหม่ : ตั้งค่าระบบให้ตรงตามข้อกำหนดการออกแบบ ฝึกอบรมทีมงาน ส่งมอบงานให้กับทีมปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดตารางการบำรุงรักษา

นอกจากนี้ การเลือกผู้ให้บริการโซลูชันที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทั้งหมดจะช่วยให้การจัดซื้อและการบริหารจัดการวงจรชีวิตง่ายขึ้น พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือได้อย่างครบถ้วน เช่น เวอร์ทิฟที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์หลายแห่ง ตั้งแต่การออกแบบ การนำไปใช้ จนถึงการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง

โดยผู้ให้บริการแบบครบวงจรสามารถลดความซับซ้อนของการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้โซลูชันระบายความร้อนด้วยของเหลวทำงานในดาต้าเซ็นเตอร์ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT