Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แบรนด์รถยนต์จีนอาจมีเฮ เมื่อภาษีรถยนต์ทรัมป์ทำพิษ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

แบรนด์รถยนต์จีนอาจมีเฮ เมื่อภาษีรถยนต์ทรัมป์ทำพิษ

4 เม.ย. 68
15:51 น.
แชร์

Aljazeera รายงานว่า แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนอาจได้รับผลประโยชน์ จากการประกาศขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 25% ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำเนียบขาวอ้างว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ และเสริมสร้างฐานอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของประเทศ

สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือ BEA เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องยนต์ และยานพาหนะมูลค่า 475,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 16 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ นำเข้าจากเม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และแคนาดา แต่บทบาทของจีนในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ นั้น มีค่อนข้างจำกัด นับตั้งแต่ทรัมป์ริเริ่มสงครามการค้าครั้งแรกในปี 2018 และกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ตามข้อมูลของ JATO Dynamics ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดยานยนต์ พบว่า “ยานยนต์ขนาดเบา” ที่ผลิตในจีน ซึ่งได้แก่ รถยนต์ รถตู้ และมอเตอร์ไซค์ คิดเป็นเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายยานยนต์ขนาดเบาในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดในปี 2024 นอกจากนี้ ในปี 2024 คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังปรับขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนสูงถึง 100% ส่งผลใช้แบรนด์รถยนต์จีนไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมชาวอเมริกันเท่าใดนัก

กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เสนอแผนห้ามใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของจีนในรถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (connected vehicle) ที่แล่นตามท้องถนนในสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งระเบียบนี้จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2027 ระบบเหล่านี้ มักถูกใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ช่วยให้ยานพาหนะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านบลูทูธ Wi-Fi หรือดาวเทียมได้

แซม ฟิออรานี รองประธานฝ่ายพยากรณ์ยานยนต์ระดับโลกของ AutoForecast Solutions กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ น้อยกว่าคู่แข่งระดับโลกโดยตรง ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้มีข้อได้เปรียบในระยะยาว เขากล่าวว่า แบรนด์จากยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต้องแบกรับภาระทางการเงินจากตลาดสหรัฐฯ เท่ากับเป็นการตัดคู่แข่งรายใหญ่ของจีนไปด้วย ต้นทุนด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายในตลาด แต่ผู้ผลิตรถยนต์จีนไม่ได้พึ่งพารายได้จากสหรัฐฯ มากนัก จึงนับว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

EV จีน จะยิ่งเติบโตจากภาษีทรัมป์

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการขึ้นภาษีนี้อย่างชัดเจนที่สุด แม้ว่ารถ EV จีนจะถูกตลาดสหรัฐฯ ปิดกั้นก็ตาม เนื่องจากจีนครองส่วนแบ่งการผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรีไฟฟ้า โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนอย่าง BYD สามารถทำยอดขายแซงหน้า Tesla ของอีลอน มักส์ได้สำเร็จ โดยได้แรงหนุนจากยอดขายในประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV รายใหญ่ 6 รายจาก 10 อันดับแรกของโลกอีกด้วย แม้ว่าภาษีของทรัมป์จะไม่ส่งผลกระทบต่อ Tesla เท่าใดนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภาษีนี้จะส่งผลเสียต่อคู่แข่งของ BYD เช่น Hyundai ของเกาหลีใต้ Nissan ของญี่ปุ่น รวมถึง BMW และ Mercedes ของเยอรมนี

ตู เล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Sino Auto Insights กล่าวว่า นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์และการผลักดันการผลิตในประเทศของสหรัฐฯ อาจทำให้แบรนด์สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขันน้อยลงในระยะยาว ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นผลดีต่อจีน เขาระบุว่า ความเป็นจริงก็คือ หากอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในอีก 4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมนี้จะไม่สามารถแข่งขันได้อีก แทนที่จะลงทุนในพลังงานสะอาดหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จไฟฟ้า กลายเป็นว่าแบรนด์รถยนต์ต้องมามุ่งเน้นไปที่การนำโรงงานกลับมายังสหรัฐฯ 

ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จีน อาจเจ็บที่สุด แต่จะแก้เกมอย่างไร

นิก มาร์โร นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียจาก Economist Intelligence Unit มองว่า ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ของจีนอาจได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้ามากกว่าผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากที่สุด เขากล่าวว่า แม้รถยนต์แบรนด์จีนจะไม่สามารถทำยอดขายมากมายในสหรัฐฯ จากมาตรการปิดกั้นต่าง ๆ แต่สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนนั้นไม่เหมือนกัน เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในจีนมาโดยตลอด

หลังจากสงครามการค้าระหว่างทรัมป์กับรัฐบาลปักกิ่งในปี 2018 ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนได้ย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อมา ย้ายมายังเม็กซิโกเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ส่งผลให้การค้าระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ เติบโตแซงหน้าจีน กลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปี 2023 ในปี 2024 เม็กซิโกจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ให้สหรัฐฯ มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ชิ้นส่วนส่วนใหญ่มาจากโรงงานในจีนที่ตั้งฐานการผลิตที่นั่น

แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของเม็กซิโกและแคนาดาจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าบางส่วน จากข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา หรือ USMCA แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า รัฐบาลเม็กซิโกอาจพิจารณาและประเมินการสร้างฐานผลิตของจีนในประเทศใหม่อีกครั้ง จากมาตรการภาษีที่ไม่แน่นนอนของสหรัฐฯ แถมทรัมป์ยังโจมตีเม็กซิโกอย่างผิด ๆ ระหว่างหาเสียงว่า เม็กซิโกอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนสร้างโรงงานเพื่อส่งรถยนต์สำเร็จรูปไปยังสหรัฐอเมริกาโดยไม่ต้องเสียภาษี ล่าสุด Financial Times รายงานว่า เม็กซิโกกำลังชะลอการอนุมัติโรงงานผลิต BYD เนื่องจากกังวลว่าเทคโนโลยีรถยนต์อัจฉริยะอาจประสบปัญหาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า อีกหนึ่งวิธีแก้เกมของจีน คือการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ ไปเลย มีโอกาสอย่างมากที่ผู้ผลิตรถยนต์จีนจะเจรจาหาทางสร้างโรงงานในสหรัฐฯ และทรัมป์อาจจะให้อนุญาตด้วย คล้ายกับเคสของ Hyundai ของเกาหลีใต้ ซึ่งประกาศการลงทุนมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่ทรัมป์จะดำเนินการขึ้นภาษีรถยนต์ดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม อิลาเรีย มาร์ซอคโค นักวิจัยอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์จีนจากศูนย์การศึกษาด้านกลยุทธ์และระหว่างประเทศ (CSIS) กล่าวว่า แนวโน้มของผู้ผลิตรถยนต์จีนยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับ “รถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” ที่บังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของจีน

มาร์ซอคโคกล่าวว่า หลายคนกำลังวิเคราะห์ว่าจีนอาจจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ หากไม่ติดปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ แต่จีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องมาตรฐานรถยนต์อยู่ดี ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของแบรนด์รถยนต์จีนไม่แพ้กัน


แชร์
แบรนด์รถยนต์จีนอาจมีเฮ เมื่อภาษีรถยนต์ทรัมป์ทำพิษ