วันอัลไซเมอร์โลก หนึ่งในสาเหตุภาวะสมองเสื่อม พบบ่อยในผู้สูงอายุ

20 ก.ย. 67

วันอัลไซเมอร์โลก ตรงกับทุก ๆ วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี โรคอันตรายที่เป็นหนึ่งในสาเหตุภาวะสมองเสื่อม พบบ่อยในผู้สูงอายุ ร่วมตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าใจถึงภัยเงียบของโรคนี้

อัลไซเมอร์ โรคในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม หนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ที่พบเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นราว 55 ล้านคน และมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer's Disease International : ADI) จึงได้ประกาศให้ทุกวันที่ 21 กันยายน ของทุก ๆ ปี เป็น "วันอัลไซเมอร์โลก" โดยมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าใจถึงภัยเงียบของโรคนี้มากขึ้น

โรคอัลไซเมอร์ ถือเป็นโรคที่ได้พบได้บ่อย กว่า 600,000-700,000 รายในประเทศไทย ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยส่วนใหญ่จะมีปัญหาสำคัญอย่างการหลงลืม จำบุคคลหรือสถานที่ไม่ได้ มีอาการหลงทิศทาง อีกทั้งในสมัยก่อน สามารถประเมินอาการได้อย่างแน่ชัด คือการตรวจชิ้นเนื้อสมองหลังจากการเสียชีวิตแล้วเท่านั้น และยาที่ใช้รักษาเป็นเพียงการประคองอาการไม่ให้ทรุดไปมากกว่าเดิม ยังไม่พบแนวทางที่รักษาที่สามารถหายขาดได้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ระบุการค้นพบว่า โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ได้แก่ โปรตีนอะไมลอยด์เบต้าและโปรตีนเทาว์ นำสู่การค้นพบวิทยาการใหม่ การวินิจฉัยปัจจุบันมีการส่งตรวจพิเศษ เพื่อแยกโรคสมองเสื่อมอื่น และได้มีการพัฒนาชุดตรวจและเครื่องมือ ที่ทำให้ทราบความแม่นยำเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว

อีกทั้งในช่วงสามปีให้หลัง ในอเมริกาและยุโรป ได้มีการรับรองชุดตรวจในเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัย สามารถใช้การเจาะเลือด 3-5 ซีซี ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ และยังพัฒนาเครื่องมือตรวจให้ใช้สะดวกมากขึ้น ในรูปแบบของแผ่นตรวจสำเร็จรูป โดยหยดเลือดลงไปในแผ่นตรวจ ก็อาจจะสามารถตรวจจับโปรตีนเหล่านี้ได้ แบบเดียวกับการใช้ชุดตรวจโควิด โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง

 

pic4

 

โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร
โรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer Disease เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการถดถอย ของการทำงานหรือโครงสร้างสมอง เกิดจากการที่โปรตีนที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ซึ่งเป็นผลจากของเสียที่เกิดจากการสันดาปของเซลล์ มีการตกตะกอนและไปจับกับเซลล์สมอง เส้นใยที่เชื่อมต่อสมอง รวมถึงเซลล์พี่เลี้ยงของสมอง ส่งผลให้เกิดความเสียหายและนำมาสู่การตายของเซลล์สมอง ทำให้สมองเสื่อมและฝ่อลง จนเกิดการสูญเสียเนื้อสมองในที่สุด

โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคสมองเสื่อม (Dementia) ที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 60-80% ของกลุ่มผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น เนื่องมาจากการมีอายุที่ยืนยาวขึ้นและปัจจัยด้านอื่น ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่แน่ชัด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

1. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
อันดับแรกที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ขั้งพื้นฐานคืออายุ ที่เมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นต้นไป จะมีอาการสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นในทุก ๆ 5 ปี อีกทั้งหากครอบครัวมีประวัติโรคความจำเสื่อม อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่าในเพศหญิง มีโอกาสที่จะป่วยในโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าเพศชาย

2. ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง
เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยปัจจัยเสี่ยงหรือโรคดังกล่าว ส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เนื้อสมองมีความเสียหายมากขึ้น อาทิ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, การสูบบุหรี่ รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย ก็เป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการป่วยโรคดังกล่าว ผู้ป่วยในโรคข้างต้นจะมีความเสี่ยงมากกว่า

3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทางกายภาพอื่น
อาทิ ระดับการศึกษา, ภาวะซึมเศร้า, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ และการมีประวัติอุบัติเหตุทางสมอง โดยโรคต่าง ๆ หรือภาวะอื่นที่เกิดขึ้นกับร่างกายทำให้เสี่ยงมากกว่า เนื่องจากขาดการทำงานของสมองในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงหากเกิดอุบัติเหตุทางสมอง จะส่งผลที่ทำให้เซลล์สมองได้รับความเสียหาย

 

อาการของโรคอัลไซเมอร์

สำหรับอาการของโรคอัลไซเมอร์ ที่นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความจำ ที่เป็นจุดเด่นต่อการสังเกตุโรค ยังมีอาการอื่นที่แตกต่างไปในผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการที่จะกล่าวถึงนี้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมของผู้ป่วยด้วย ได้แก่

  • สูญเสียความจำหรือข้อมูลระยะสั้น มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ
  • เริ่มมีความสับสนในวัน เวลา สถานที่
  • ความสับสนในทิศทาง หรือเส้นทางที่เคยใช้เป็นประจำ
  • มีปัญหาในการสื่อสาร คิดคำพูดไม่ออก เข้าใจหรือสื่อสารข้อความยาว ๆ ไม่ได้
  • มีการตัดสินใจที่แย่ลง ช้าลง
  • มีการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา ทำได้ยากขึ้น หรือทำได้แย่ลง
  • ขาดสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
  • มีปัญหาในการทำงาน ทำงานให้สำเร็จได้ยากกว่าปกติ
  • มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึมเศร้า
  • มีการแยกตัวจากสังคม งาน หรือกิจกรรมที่เคยทำหรือชื่นชอบ
  • ไม่เข้าใจสิ่งที่มองเห็น อ่านเนื้อหาไม่เข้าใจ ประเมินระยะห่างที่เห็นผิด กะระยะไม่ได้

 

ซึ่งอาการป่วยเหล่านี้ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ อันได้แก่

  1. ระยะแรก : ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้
  2. ระยะกลาง : ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลง เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรที่ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ คิดว่าคู่สมรสนอกใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ยากต่อการดูแลและเข้าสังคม
  3. ระยะท้าย : ผู้ป่วยอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลง หรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี

 

pic3

 

กิจกรรมยามว่าง ที่ส่งผลดีต่อสมอง
ข้อมูลจาก BDMS Wellness Clinic ระบุว่า งานวิจัยที่รวบรวม 38 งานวิจัยแบบระยะยาว ที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยกว่า 2.1 ล้านคน ให้ข้อสรุปไว้ว่า การทำกิจกรรมยามว่างต่าง ๆ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมได้สูงถึง 20% โดยมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การทำให้สมองได้รับการกระตุ้นอยู่เสมอ คือวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อม

กล่าวคือ การหากิจกรรมยามว่าง หรืองานอดิเรกที่ทำเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการคิดหรือทำงานอยู่เสมอ เป็นสาเหตุที่ช่วยป้องกันการเสื่อมถอยของการทำงานสมอง โดยมีกินกรรม 3 ประเภทที่ส่งผลดีต่อสมอง ได้แก่

 

  • กิจกรรมฝึกสมอง (Cognitive Activities)

การฝึกสมองช่วยรักษาทักษะต่าง ๆ เช่น ความจำ ความคิด และการใช้เหตุผล กิจกรรมเหล่านี้ช่วยรักษาสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นสองส่วนแรก ที่เกิดผลกระทบในระยะเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม อาทิ การอ่านหนังสือ ฝึกเขียนตัวอักษร การเขียนหนังสือ เล่นเกมปริศนา ฝึกดนตรี วาดรูป หรือทำงานฝีมือ จะช่วยลดความเสี่ยงได้ 23%

 

  • กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)

การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเรื่องการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง และชะลอการลดลงของความจำ เพราะการทำกิจกรรมทางกาย มีความสัมพันธ์กับระดับเบต้า-อะไมลอยด์ และโปรตีนเทาว์ที่ลดลงในสมอง ตัวอย่างเช่น การเดินออกกำลังกาย วิ่ง ว่ายน้ำ โยคะ หรือเต้น จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ถึง 17%

 

  • กิจกรรมทางสังคม (Social Activity)

กิจกรรมทางสังคมที่ได้ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น (Social Activity) หรือ การเข้าสังคมหรือติดต่อกับผู้อื่น รวมถึงรู้สึกถึงความรักและห่วงใยจากผู้อื่น จะช่วยให้บุคคลลดการเกิดโรคซึมเศร้า และการเกิดความเครียดในร่างกาย ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง ซึ่งในข้อนี้รวมไปทั้งการเข้าร่วมคลาสเรียนกับผู้คนจำนวนมาก การไปทำงานอาสาสมัคร การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา การได้เจอเพื่อนหรือครอบครัวเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการสมองเสื่อมได้ถึง 7%

 

กิจกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงแต่จะช่วยชะลอและป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมอื่น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองในด้านอื่น ๆ เช่น ลดความเสี่ยงมะเร็ง การเต้นของหัวใจผิดปกติลดลง และเพิ่มการรับรู้ความเป็นอยู่ที่ดี การได้ขยับร่างกายอยู่เสมอ หรือการได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบเป็นประจำ จะช่วยลดความเครียดที่จะเสี่ยงต่อการคิดมาก อันเป็นต้นเห็นของการทำงานสมองที่จะลดลงได้ด้วย

 

เพราะการป่วยอัลไซเมอร์ไม่ใช่เรื่องแค่อาการหลงลืม แต่คือการสูญเสียความทรงจำ ที่ในขั้นต้นอาจเป็นเพียงอาการระยสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80-90 จะเริ่มมีอาการทางพฤติกรรมหรืออาการทางจิตเวชร่วมด้วย ที่เป็นต้นเหตุที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ยากขึ้น 

สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีญาติหรือผู้ใกล้ชิด มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถไปรับการตรวจเบื้องต้นที่ คลินิกผู้สูงอายุสถานพยาบาลใกล้บ้าน กรณีที่ตัวโรคมีความซับซ้อน จะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงกว่าตามความเหมาะสม

 

ที่มา : BDMS Wellness Clinic (bdmswellness.com) / กรมประชาสัมพันธ์ (prd.go.th) / Alzheimer's Disease International (alzint.org)

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด