การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหายาวนานที่กฎหมายแก้ไม่ได้

27 พ.ค. 67

การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหายาวนานที่กฎหมายแก้ไม่ได้

ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง มีกฎหมายแต่กฎหมายนั้นอาจจะมีช่องโหว่ทำให้สามารถดำเนินการทุจริตได้ อย่างเช่นกรณีของข้าราชการ ซี 7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ร่วมกมือกับคนในครอบครัว ในการทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เคสนี้มีมูลค่าความเสียหายต่อภาครัฐสูงถึง 51 ล้านบาท และไม่น่าเชื่อว่าดำเนินการต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี ด้วยกัน

web_0

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณี ของปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แสดงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง

SPOTLIGHT Anti Corruption Season 2 บทความนี้ จะพาทุกคนไปเจาะลึกปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าในประเทศไทยมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีผลกระทบต่อประเทศไทยแค่ไหน และจะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง

โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีอยู่ประมาณ 31 ล้านโครงการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

รายงานภาพรวมผลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พบว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งสิ้น 6,065,078 โครงการ วงเงิน 2,183,441.06 ล้านบาท

แต่ที่น่าสังเกตุ คือ มีการใช้วิธี e-bidding เพียง 166,944 โครงการ คิดเป็น 2.75% ขณะที่การจัดซื้อด้วยวิธิพิเศษ คือ วิธีคัดเลือกและเฉพาะเจาะจง ถูกใช้มากถึง 97.15% ซึ่งวิธี e-bidding เป็นวิธีสามารถช่วยประหยัดงบประมาณ มีความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมด้วยการนำระบบนี้เข้ามาควบคุม

แต่กฎหมายจัดซื้อจ้างก็มีช่องโหว่ที่สามารถ ทำให้มีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้สามารถทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ด้วยการซอยวงเงินในโครงการให้อยู่ในกรอบที่ไม่ต้องทำ e-bidding คือ วงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่ถึง 5 ล้านบาท และนอกจากนี้วงเงินที่ไม่เกิน 5 แสนบาท สามารถใช้วิธีพิเศษได้ ซึ่งวงเงินตั้งแต่ไม่เกิน 1 แสน จนถึงไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น ในปี 2566 มีถึง 6,016,414 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 6,065,078 โครงการ จากตัวเลขนี้เราอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า มีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้องหรือไม่

กรณีข้าราชการ ซี 7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

สำหรับกรณีข้าราชการ ซี 7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันคนในครอบครัว ดำเนินการทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สร้างความเสียหายให้กับภาครัฐไปกว่า 51 ล้านบาท ที่โกงมานานถึง 10 ปีนั้น

เป็นการทุจริตที่มีลักษณะเป็นครอบครัว กล่าวคือ มีบุคคลในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการอาศัยช่องโหว่ของระเบียบวิธีปฎิบัติ ซึ่งในลักษณะนี้จะเป็นการทำในโครงการที่วงเงินงบประมาณไม่สูงมากนักในแต่ละครั้ง และใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงในวงเงินโครงการไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งบางหน่วยงานใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีนี้หลายครครั้งจนเป็นที่น่าสังเกตหรือน่าสงสัย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ หากผู้มีอำนาจ และผู้ที่เกี่ยวข้องมีการร่วมมือกันเป็นกระบวนการแล้ว และไม่มีกลไกเข้ามาตรวจสอบแล้วนั้น การกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้มีอำนาจอาจหาช่องทางจัดการกลไกการตรวจสอบหรือปกปิดข้อมูลในการตรวจสอบได้ ซึ่งการทุจริตไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ถ้าทำติดต่อกัน 10 ครั้ง และหากทำบ่อยขึ้นๆ ความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการทำผ่านบุคคลภายในครอบครัว มีการจัดซื้อจัดจ้างกันจริงหรือไม่ ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะใช้บุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การตรวจสอบยากขึ้นไปอีก

ในความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มองว่าปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นจากการอาศัยช่องว่างของระเบียบกฎหมาย และผู้กระทำผิดได้พัฒนาวิธีการทุจริต ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาระบบการป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างให้รองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน  เพราะขณะนี้รูปแบบการทุริตก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจิตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ขณะที่ความเห็นของ ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม มองว่า การทุจิตจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่แค่เกิดจากเฉพาะคนในครอบครัว โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ต้องมาพิจารณากันอย่างจริงจังถึงช่องโหว่ว่ามีอะไรบ้าง และหาแนวทางการป้องกันอย่างไร

โดยแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างแบบออนไลน์ (e-bidding) การนำระบบ Open Contracting Data Standard มาใช้ และนำมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาความเสี่ยงและแนวทางการป้องกันการทุจริต

อีกทั้ง ควรเพิ่มความโปร่งใส ทั้งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การประมูล การคัดเลือกผู้ชนะในสัญญา การบริหารสัญญา และการตรวจรับงาน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลการจัดซื้อจ้างจากหน่วยงานต่างๆ ควบคู่ไปกับการเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

นอกจากนี้ ควรต้องมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีความรัดกุม ละเอียดยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของคุณสมบัติของผู้รับจ้าง ตรวจสอบราคาที่เสนอประมูล ตรวจสอบคุณภาพงานและสินค้า และมีบทลงโทษผู้ทุจริตอย่างเด็ดขาด

การทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนามีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ด้านความเห็นของ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มองว่า บทลงโทษของ ป.ป.ช.ค่อนข้างรุนแรง สำหรับกรณีการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต แต่เหตุที่ยังมีผู้กระทำผิดอยู่ตลอดเวลา เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วยังรอด จากการตรวจสอบ

จากข้อมูลที่เล่ามา จะเห็นได้ว่า ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างของเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดมาจากการอาศัยช่องว่างของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างนั่นเองนะคะ ขณะเดียวกันรูปแบบของการทุจริตมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีก็คือระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์หรือว่า e-bidding มาใช้แล้วก็ตาม

แต่ว่าประชาชนก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลของโครงการต่างๆนี้ได้ทั้งหมด เพราะว่ามีการจัดจัดจ้างมากถึง 31 ล้านโครงการด้วยกัน

ดังนั้นการร่วมมือกันแก้ปัญหาคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ภาครัฐเองก็คงจะต้องมีการปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โปร่งใส และก็ตรวจสอบได้ ส่วนภาคธุรกิจก็คงต้องทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ในฝั่งของภาคประชาชนเองก็คงจะต้องร่วมกันตรวจสอบ แจ้งเบาะแส และก็รวมถึงการเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยในการป้องกันและก็ปราบปรามการทุจริตให้ลดน้อยลงไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

สกู๊ปพิเศษ เป็นกระแส