ชาร์ลส์ พอนซี ตัวพ่อนักต้มตุ๋น ต้นกำเนิดแชร์ลูกโซ่ เมื่อ 100 ปีที่แล้ว

21 ต.ค. 67

ชาร์ลส์ พอนซี ตัวพ่อนักต้มตุ๋น ต้นกำเนิดแชร์ลูกโซ่ ผู้กระตุ้นความโลภของผู้คนจนเกิดหายนะครั้งประวัติศาสตร์

แชร์ลูกโซ่ เป็นการหลอกล่อให้หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ โดยอ้างว่ามีผลกำไรที่ดีมาก ได้ผลตอบแทนที่สูงลิ่วในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อเพราะหวังที่จะรวยทางลัด

ทั้งนี้ การที่ภาษาอังกฤษเรียกแชร์ลูกโซ่ว่า พอนซี สกีม (Ponzi scheme) นั้นมีที่มาจาก ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) นักธุรกิจชาวอิตาลี ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "บิดาแชร์ลูกโซ่" ซึ่งได้ทำการหลอกลวงนักลงทุนให้มาร่วมทำธุรกิจ ช่วงต้นทศวรรษปี ค.ศ. 1920 โดยขายฝันว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาไม่นาน ทั้งที่จริงไม่มีการลงทุนหรือทำธุรกิจใดๆ อาศัยเงินของคนใหม่นำไปให้คนเก่าจนมีมูลค่าความเสียหายถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

• ประวัติ ชาร์ลส์ พอนซี บิดาแชร์ลูกโซ่

พอนซีเกิดในครอบครัวฐานะดี ที่เมืองลูโก ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1882 แต่ต่อมาครอบครัวประสบช่วงเวลาที่ยากลำบากด้านการเงิน ประกอบกับช่วงนั้นเด็กหนุ่มชาวอิตาลีจำนวนหนึ่งอพยพไปยังสหรัฐอเมริกาและเดินทางกลับอิตาลีในฐานะบุคคลที่ร่ำรวย ครอบครัวของพอนซีสนับสนุนให้เขาทำเช่นเดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ครอบครัวของเขากลับไปสู่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดิม

พอนซีเดินทางมาถึงเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1903 โดยมีเงินติดตัวมาแค่ 2.50 ดอลลาร์ (เทียบเท่ากับ 85 ดอลลาร์ในปัจจุบัน) เขาทำงานรับจ้างสารพัดอย่างจนสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว แต่ชีวิตก็ยังกระท่อนกระแท่นไม่สามารถตั้งตัวได้เสียที ก่อนจะพบรักและแต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนที่อพยพมาอเมริกาในปี 1918

• จุดเปลี่ยนชีวิต ต้นกำเนิด Ponzi scheme แผนลวงเงินนักลงทุนแบบจับเสือมือเปล่า

ในช่วงฤดูร้อนปี 1919 พอนซีได้รับจดหมายจากบริษัทแห่งหนึ่งในสเปนที่สอบถามเกี่ยวกับแคตตาล็อกโฆษณาซึ่งมีคูปองตอบกลับระหว่างประเทศ (IRC) คูปองนี้ช่วยให้บุคคลในประเทศหนึ่งสามารถจ่ายค่าไปรษณีย์สำหรับตอบกลับผู้ติดต่อในประเทศอื่นได้ โดยคูปองตอบกลับระหว่างประเทศมีราคาเท่ากับมูลค่าในประเทศที่ซื้อ แต่สามารถนำไปแลกเป็นแสตมป์เพื่อชดเชยค่าไปรษณีย์ในประเทศที่แลกรับได้

พอนซีค้นพบจุดอ่อนในระบบที่ทำให้เขาสามารถซื้อคูปองจากต่างประเทศด้วยราคาต่ำ และนำมาขายต่อในสหรัฐ ด้วยส่วนต่างราคา ซึ่งนับว่าเป็นกำไร พอนซีเห็นโอกาสจึงลาออกจากงานเพื่อดำเนินธุรกิจ IRC แต่ด้วยความที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อซื้อ IRC ด้วยสกุลเงินยุโรป พอนซีจึงได้ก่อตั้งบริษัทหุ้นเพื่อระดมทุนจากประชาชน เขาไปหาเพื่อนหลายคนและสัญญาว่าจะได้รับกำไร 50% ภายใน 45 วัน หรือ 100% ภายใน 90 วัน โดยการซื้อคูปองส่วนลดสำหรับการส่งไปรษณีย์ในประเทศอื่นๆ และแลกรับในมูลค่าที่ตราไว้ในสหรัฐอเมริกาในรูปแบบของการเก็งกำไร โดยช่วงแรกนักลงทุนได้รับเงินตามที่สัญญาไว้ โดยได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 750 ดอลลาร์ จากการลงทุนเริ่มต้น 1,250 ดอลลาร์

ข่าวสารเรื่องการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงแพร่กระจายไปในวงกว้าง จนทำให้มีลูกค้าแห่กันเข้ามาลงทุนด้วยจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปจนถึงเศรษฐีที่มีฐานะดี โดยมีรายงานว่าตำรวจในเมืองบอสตันเกือบทั้งหมด ต่างก็ลงทุนในโครงการนี้ด้วย

จากแรกเริ่มมีเงินลงทุน 5,000 ดอลลาร์ (เทียบเท่า 80,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน) จนกระทั่งผ่านไปไม่นาน เดือนมิถุนายน 1920 มีผู้ลงทุนรวม 2.5 ล้านดอลลาร์ในโครงการพอนซี (เทียบเท่ากับ 38,000,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน) ทำให้ช่วงนั้นเขามีรายได้เกือบล้านดอลลาร์ต่อวันเลยทีเดียว

charles_ponzi

• เริ่มสู่หายนะ เงินในระบบมาจากลูกข่าย ไม่ใช่มาจากสินค้าหรือธุรกิจ

แม้ว่าพอนซีจะยังคงจ่ายเงินคืนนักลงทุนได้ตามที่สัญญา แต่เขาก็ยังไม่สามารถหาทางเปลี่ยน IRC เป็นเงินสดได้ ในเวลาต่อมา เขายังตระหนักได้ว่าการเปลี่ยนคูปองเป็นเงินนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เช่น นักลงทุน 18 รายแรก ที่ลงขัน 1,800 ดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 1920 จำเป็นต้องใช้คูปองไปรษณีย์ถึง 53,000 ใบ จึงจะทำกำไรจากการเก็งกำไรได้จริง แต่ต่อมาพอนซีนักลงทุนรวมกันถึง 15,000 ราย นั่นหมายความว่า พอนซีจะต้องเติมคูปองไปรษณีย์ลงในเรือใหญ่ขนาดเท่าเรือไททานิกถึงจะได้กำไรมาจ่าย อย่างไรก็ตามเขายังทำเงินและดำเนินธุรกิจลวงโลกนี้ต่อไปได้เพราะยังมีนักลงทุนหน้าใหม่ทยอยเข้ามาเติมเงินให้ ขณะที่นักลงทุนเก่าเมื่อเห็นว่าได้ผลตอบแทนจริงก็ลงทุนซ้ำทบเข้าไปอีก

พอนซีใช้ชีวิตอย่างหรูหรา เขามีทั้งคฤหาสน์ ซื้อบริษัทเพิ่มเติม แม้ว่าบริษัทของพอนซีจะสร้างรายได้มหาศาลให้แต่ละวัน แต่การวิเคราะห์ทางการเงินพบว่าการดำเนินงานนั้นขาดทุนมหาศาล วิธีเดียวที่พอนซีจะใช้สร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่มีอยู่ต่อไปได้คือการหานักลงทุนใหม่ๆ แล้วนำเงินไปหมุนต่อ ท่ามกลางข่าวที่เขาเริ่มผิดนัดชำระหนี้กับพ่อค้าหลายราย แม้หน้าฉากจะเป็นเศรษฐีที่มาแรงที่สุดของยุค

• การล่มสลายของแชร์ลูกโซ่ Ponzi scheme หลังถูกสื่อเปิดโปงว่าเป็นธุรกิจลวงโลก

สื่อยักษ์ใหญ่ The Post เขียนบทความตั้งคำถามถึงบริษัทของพอนซี โดยพบว่าแม้ว่าพอนซีจะเสนอผลตอบแทนจที่ยอดเยี่ยมให้กับลูกค้า แต่ตัวเขาเองกลับไม่ได้ลงทุนใดๆ กับบริษัทของตัวเอง มูลค่าธุรกิจของเขานั้นหากเทียบแล้วจะต้องมีคูปองตอบกลับทางไปรษณีย์หมุนเวียนในตลาด 160 ล้านใบ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงประมาณ 27,000 ใบเท่านั้น

บทความของ The Post ทำให้เกิดความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน หลายสื่อเริ่มขุดประวัติของเขา เช่น เขาเคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร มีความผิดทางอาญาในมอนทรีอัล ประเทสแคนาดา และสารพัดเรื่องอื้อฉาวที่ลอยขึ้นมาเหมือนน้ำลดตอผุด

ผู้ลงทุนเริ่มขอถอนเงินลงทุนคืนเป็นจำนวนมาก แต่เขาไม่สามารถจ่ายเงินให้กับทุกคนได้ตามที่สัญญาไว้ เพราะธุรกิจของเขาไม่ได้มีการลงทุนจริง ทำให้เดือนกรกฎาคม 1920 โครงการ Ponzi Scheme พังทลายลงอย่างราบคาบ พอนซีถูกจับกุมและถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาฉ้อโกง รวมมูลค่าความเสียหาย 20 ล้านดอลลาร์ในปี 1920 (เทียบเท่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน)

charles_ponzi_mug_shot

• ชะตากรรมของคนโกงและการตัดสินลงโทษต้นกำเนิดแชร์ลูกโซ่

พอนซีถูกรัฐบาลกลางตั้งข้อหา ฉ้อโกงทางไปรษณีย์ 86 กระทง ศาลตัดสินจำคุกพอนซีเป็นเวลา 5 ปี และยังต้องเผชิญกับข้อหาอื่นๆ ในหลายรัฐ ติดคุกในอีกหลายคดี จนกระทั่งปี 1934 พอนซีได้รับการปล่อยตัวออกมา ก่อนจะได้รับคำสั่งให้เนรเทศเขากลับอิตาลีทันที เขาพยายามหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศบ้านเกิดแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

พอนซีใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของชีวิตในความยากจน โดยทำงานเป็นล่ามเป็นครั้งคราว สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงและในปี 1941 เขามีอาการหัวใจวาย ทำให้เขาอ่อนแอลงอย่างมาก สายตาของเขาเริ่มแย่ลง และในปี 1948 ตาของเขาแทบจะบอดสนิท เลือดออกในสมองทำให้ขาและแขนซ้ายของเขาเป็นอัมพาต พอนซีเสียชีวิตในโรงพยาบาลการกุศลในเมืองริโอเดอจาเนโร เมื่อวันที่ 18 มกราคม 1949

แม้ว่า ชาร์ลส์ พอนซี จะเสียชีวิตไปนานหลายปี แต่วีรกรรมของเขายังคงถูกจดจำมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่มาของคำว่า "Ponzi Scheme" หมายถึง แชร์ลูกโซ่ ที่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการหรือกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อหลอกลวงเงินไปตามยุคสมัย แต่หัวใจหลักของแผนการคือ หลอกลวงเงินจากนักลงทุนรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้นักลงทุนเก่า ให้หลายคนได้ตระหนักและระมัดระวังว่าอย่าหลงไว้ใจการลงทุนที่ง่าย จ่ายน้อยแต่ได้มาก บันดาลความร่ำรวยให้อย่างรวดเร็ว เพราะสุดท้ายจุดจบคือการถูกโกงจนหมดเนื้อหมดตัว ยากที่จะได้เงินกลับคืนมา

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม