นายกฯ​ ปัดตอบ​ ออก พ.ร.ก.ต่ออายุความคดีตากใบหรือไม่​

23 ต.ค. 67

นายกฯ​ ปัดตอบ​ ออก พ.ร.ก.ต่ออายุความคดีตากใบหรือไม่​ หลังถูกจี้กระทบความเชื่อมั่นรัฐบาลเพื่อไทย​ ด้าน “ทวี​” โยน​ ถามรองนายกฯ มั่นคง​ ยันรัฐบาลไม่เคยมีอคติ หวั่นออก พ.ร.ก.ขัดกฎหมาย 

วันที่ 23 ต.ค. 67 ที่พระลานพระราชวังดุสิต กทม. น.ส.แพทองธาร​ ชินวัตร​ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธแสดงความเห็น ถึงข้อเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.​ต่ออายุ คดีสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ​ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้​ โดยระบุสั้นๆว่า​ “ขอไปก่อนนะคะ” 

ด้าน พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รมว.ยุติธรรม​ กล่าวว่า​ ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ขอให้ไปถามรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง โดยปกติการจะออก พ.ร.ก.จะมีกระบวนการออกกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็น รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าจะออกเพื่อเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เป็นการออกทั่วไป จะต้องมีการศึกษาว่าทำได้หรือไม่ได้ 

ส่วนอีก 2 วันที่คดีจะหมดอายุความ จะออกเป็น พ.ร.ก.ทันหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า อายุความเป็นเรื่องของกฎหมาย พ.ร.ก.จะมาใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร พร้อมย้ำว่าตนไม่ทราบจริงๆ ต้องไปถามรองนายกรัฐมนตรี ​ด้านความมั่นคง 

ส่วนเมื่อวานนี้ที่ให้สัมภาษณ์ว่าหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ วันนี้จะมีปาฏิหาริย์หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ ระบุว่า เท่าที่ทราบทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่ การทำงานลักษณะนี้ถ้าเรามีความพยายาม บางครั้งมันอาจจะประสบความสำเร็จ 

เมื่อถามว่า หมายความว่าได้รับสัญญาณที่ดี ได้รับการติดต่อกลับมาจากผู้ต้องหาใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ไม่ได้ติดต่อ แต่รับทราบจากผู้ที่ไปสืบสวนหลายคน 

เมื่อถามย้ำว่า จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ ย้ำคำเดิมว่า มีข้อมูลว่าอยู่ที่ใด แต่เมื่อไปพิสูจน์ทราบพบว่าข่าวเมื่อวานกับข่าววันนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมดหวังเพราะยังมีเวลา ต้องทำงานให้เต็มที่ 

ส่วนกังวลหรือไม่ เพราะกับจะกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาชาติที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า วันนี้อย่าไปกังวลเรื่องเสียง แต่ต้องกังวลเรื่องความยุติธรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องดูให้รอบด้าน เพราะกระบวนการยุติธรรมเรื่องนี้ ที่เขาบอกว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรม แต่หัวอกของผู้เสียหายและญาติ เรื่องการเยียวยาก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ ถ้าเขาได้ลูกหรือพ่อแม่เขากลับมาได้ แต่เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินการไปตามกฎหมายขณะนั้น ซึ่งการตรวจสอบเมื่อใกล้ขาดอายุความทุกคนก็กังวล ก็จะหาทางออกว่า ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรม เดินหน้าก่อนขาดอายุความ จนมาเริ่มในเดือน ม.ค.2567 ในปีสุดท้ายความพยายามในการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม ทำไปถึงสามารถออกหมายจับ ส่วนศาลสั่งให้ตำรวจไปจับกุมในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน เขาก็มีความกังวลเพราะอายุความเหลือน้อย 

"ส่วนผู้กระทำความผิด เป็นธรรมดาถ้าเขาต่อสู้คดีก็จะใช้เวลา 10 - 20 ปี​ ถ้าเขาเห็นว่ามีช่องทางเรื่องอายุความ​ เขาก็ต้องหลบไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา​ ไม่ใช่แค่ข้าราชการ วันนี้เรามีหมายจับ 7,000 กว่าหมาย จับได้แค่ 4,000 หมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคงเขาก็หลบไป​ จนหมายจับขาด​ นี่เราก็ไม่ว่ากัน แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ต้องช่วยกันจับกุมให้ได้" 

เมื่อถามต่อว่า ถ้าจับไม่ได้จะกระทบอย่างไรกับรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า หากจับไม่ได้ก็แค่คดีขาดอายุความ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องให้ประชาชนรับรู้ เรื่องที่มันเกิดขึ้น เชื่อว่าผู้เสียหายเองก็ไม่ได้หวังไปทำร้ายผู้ที่ถูกออกหมายจับ แต่ในฐานะที่ครอบครัวมีผู้เสียชีวิต เขาอยากได้ความยุติธรรมตามกระบวนการ 

เมื่อถามย้ำว่า หากไม่สามารถจับกุมได้ความรับผิดชอบของรัฐบาลจะอยู่ในระดับใด  พ.ต.อ.ทวี​ ระบุว่า​ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว​สิ้นสุด ส่วนที่มันสิ้นสุด ในรัฐบาลนี้เพราะรัฐบาล มีความรับผิดชอบด้วยซ้ำ ไม่ต้องการทำให้เรื่องขาดอายุความ แต่พอมาถึงกระบวนการยุติธรรม เรามีศาล อัยการ เพราะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเราไม่สามารถไปแทรกแซงได้ แต่หน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะในยุคนี้ ทำเรื่องให้จนสามารถออกหมายจับ ซึ่งในสายตาของประชาชนหรือญาติๆ ก็ภูมิใจที่ประชาชนสามารถออกหมายจับแม่ทัพภาคได้ ตรงกันข้ามประชาชนมองว่าญาติพี่น้องของเขาถูกออกหมายจับจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นธรรมที่ กระบวนการยุติธรรมสามารถออกหมายจับข้าราชการได้ 

ส่วนการออกหมายจับถือเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่​ พ.ต.อ.ทวี​ กล่าว​ว่า​ ไม่ถือว่าเป็นผลงานรัฐบาล แต่ทำให้เห็นว่าเป็นพลวัฒน์​ ถ้ามีกฎหมายให้ทำได้เราจะทำอยู่แล้ว แม้แต่การให้ออกพ.ร.ก. ต้องไปศึกษาว่าถ้าออก จะยืดอายุความเฉพาะ 8 คนหรือ 14 คน หรือจะยืดอายุความอีกกว่า 4,000 คน ที่ถูกออกหมายจับเป็นแสนคน​ เพราะอาจเป็นการออกกฎหมายเพื่อคนใดคนหนึ่ง ถ้าทำได้ก็อยากทำ 

พ.ต.อ.ทวี​ ยืนยันว่า​ รัฐบาลพยายามคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายในคดีตากใบ ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ ก็มีการดำเนินคดี ซึ่งในขณะนั้นเริ่มตั้งแต่ชันสูตรพลิกศพ ว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตาย จนกระทั่งปี 2552 ศาลไม่ได้ชี้ และข้าราชการก็ย้ายออกจากพื้นที่ไปหมด ซึ่งต่างจากคดี 99 ศพ ศาลยังระบุว่าอาวุธปืนมาจากเจ้าหน้าที่ แต่คดีนี้ไม่ได้ระบุว่าใครทำให้ตาย โดยในความบกพร่องตรงนั้นตำรวจก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร่วมกับ สภ.หนองจิก เมื่อปี 2552 ว่าเหตุใดไม่ทำสำนวนให้จบ และเรื่องนี้ก็ถือเป็นความสวยงามของกฎหมาย ที่ประชาชนฟ้องเองได้ และมาฟ้องในปีที่ 20 

ส่วนกังวลหรือไม่ที่เหลือเวลาอีก 2 วันจะหมดอายุความ พ.ต.อ.ทวี ยอมรับว่า ตรงนั้นก็เป็นความกังวล แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกฝ่าย และเราก็เสียใจกับพี่น้องที่เป็นผู้เสียหายในคดีตากใบ ซึ่งพรรคประชาชาติด้วยซ้ำที่เป็นคนหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา โดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ นำเรื่องเข้ากรรมาธิการเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และมีการเรียกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาชี้แจงว่า สำนวนยังมีความบกพร่อง ที่ตำรวจยังไม่สืบสวน โดยไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ที่จะต้องทำภายใน 20 ปีของอายุความ เราก็ทำหน้าที่ตรงนั้นซึ่งก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในระดับหนึ่ง 

สำหรับที่มีการตั้ง ข้อสังเกตกรณี เสี่ยแป้ง นาโหนด ที่หลบหนีไปนอกประเทศยังนำตัวมาดำเนินคดีได้นั้นมองว่า ข้อกำหนดของแต่ละประเทศต่างกัน และในส่วนของ เสี่ยแป้ง นาโหนด กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสียหาย แต่กรณีนี้กระทรวงไม่ได้เป็นผู้เสียหาย แต่มอบให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปช่วยสนับสนุนข้อมูล 

ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอเสนอให้ร้องเรียนต่อศาลระหว่างประเทศนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนขอชื่นชมเอ็นจีโอและทุกภาคส่วนที่สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะความยุติธรรมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วม พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่ได้กังวล เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือใครและไม่มีอคติที่จะช่วยเหลือใคร และหนำซ้ำอยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเราคิดเสมอว่า เราใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเป้าหมายสุดท้าย 

เมื่อถามว่า แม้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาลเพื่อไทยจะถูกโยงหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทุกอย่างเมื่อความจริงปรากฏ ความชั่วร้ายก็จะหายไป

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส