งานนี้เจ๊งกันยับ เมื่อ ‘FTX’ อดีตแพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซีชั้นนำของโลกประกาศยื่นล้มละลาย และ ‘แซม แบงก์แมน-ฟรีด’ ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ ตอกตะปูฝาโลงดับความหวังนักลงทุนทั้งหลายที่เคยคิดว่า FTX ยังมีโอกาสรอด
ด้วยความที่เป็นอดีตแพลตฟอร์มใหญ่ที่เคยได้รับเงินทุนจากทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยทั่วโลก การล้มของ FTX ในครั้งนี้นอกจากจะทำทรัพย์สินของอดีตซีอีโอดิ่งจากหลายหมื่นล้านลงมาเหลือไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์แล้ว ยังสั่นสะเทือนผู้เล่นทั้งวงการคริปโทฯ ทั้งวงการแบบนานาชาติ ทั้งในซีกโลกตะวันออก และตะวันตก
ลามไปถึงแมงเม่ารายย่อยที่ถือคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ทุกสกุล โดยเฉพาะเหล่าเทรดเดอร์บน FTX ที่ปัจจุบันยังถอนเงินมูลค่ารวมถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐออกมาไม่ได้ และไม่รู้จะถอนได้เมื่อไหร่
ในมหกรรมเจ๊งกระจายครั้งนี้ ใครจะล้มไปกับ FTX แล้วแต่ละรายจะเสียหายกันไปเท่าไหร่บ้าง ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้ดูกัน
นักลงทุนสถาบันสูญรวมกันกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รองจากตัว แซม แบงก์แมน-ฟรีด เอง กลุ่มบริษัทหรือคนที่น่าจะเสียเงินมากที่สุดหลัง FTX ล้มละลายคือ เหล่านักลงทุนสถาบัน ทั้งบริษัทด้านการลงทุน ธุรกิจเงินร่วมลงทุน และกองทุนบำนาญ รวมไปถึงนักลงทุนรายใหญ่ทั้งหลายที่เคยให้ทุนกับ FTX ในการระดมทุนทั้งรอบ Series B และ Series C และเข้าไปถือหุ้นในแพลตฟอร์ม
โดยในปี 2021 FTX ระดมทุนไปได้ทั้งหมด 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน และ 421 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน
ในกลุ่มนักลงทุนสถาบันดังกล่าว รายที่เสียหายหนักที่สุดมีดังนี้ คือ
- Temasek Holdings กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์
หุ้นใน FTX: 1%
จำนวนเงินลงทุน: 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Sequoia Capital บริษัท Venture Capital จากซิลิคอนวัลเลย์
หุ้นใน FTX: 1.1%
จำนวนเงินลงทุน: 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Paradigm บริษัทลงทุนจากซานฟรานซิสโก
หุ้นใน FTX: 1%
จำนวนเงินลงทุน: 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- SoftBank บริษัทด้านการลงทุนของญี่ปุ่น
จำนวนเงินลงทุน: 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
-
Ontario Teachers’ Pension Plan กองทุนบำนาญครูเมืองออนทาริโอ แคนาดา
หุ้นใน FTX: 0.4%
จำนวนเงินลงทุน: 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คู่ค้า FTX กระทบ ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มไม่ได้
นอกจากกลุ่มนักลงทุนที่ไม่น่าจะได้อะไรคืนมาจาก FTX แล้ว กลุ่มต่อไปที่จะเดือดร้อนไม่แพ้กันคือบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ให้บริการกู้ยืมคริปโทฯ อย่าง BlockFi ที่ได้รับผลกระทบจนต้องระงับการถอนเงิน และจำกัดการซื้อขายเหรียญบางส่วน และ Genesis ที่ได้ลงทุนเป็นจำนวนเงินประมาณ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐในตราสารอนุพันธ์บนแพลตฟอร์ม FTX และยังถอนเงินออกมาไม่ได้
นอกจากนี้ ผู้เสียหายในกลุ่มนี้ยังรวมไปถึง B2C2 บริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่มีชื่อเสียงในหมู่นักลงทุนสถาบัน และ Market Maker หรือผู้สร้างสภาพคล่องของโลกคริปโทฯ ที่มีเงินค้างอยู่ในนั้นมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกองทุนรวมอย่าง Multicoin Capital ที่มีทรัพย์สินประมาณ 10% หรือราว 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ใน FTX
ไม่ใช่แค่บริษัทน้อยใหญ่ งานนี้นักลงทุนมหาเศรษฐี-คนดังก็โดน
นอกจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและบริษัทที่ทำธุรกิจด้านคริปโทฯ แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเสียหายไม่แพ้กันคือเหล่านักลงทุนรายใหญ่ที่ถือหุ้นรวมกันถึง 3.5% ของ FTX ผ่านการลงทุนในรอบ Series B
โดยจากข้อมูลของ Forbes ในนั้นปรากฎชื่อมหาเศรษฐีหลายราย เช่น Paul Tudor Jones, Daniel Loeb และ Israel Englander
และนอกจากเหล่ามหาเศรษฐที่มาร่วมกันลงขันแล้ว ผู้เสียหายกลุ่มนี้ยังรวมไปถึงคนดังอีกสองคนที่เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ FTX ด้วย อย่าง Tom Brady นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง และนางแบบสาว Gisele Bundchen ที่ถือหุ้นใน FTX 0.15% และ 0.09% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ