“ไฟเซอร์” บริษัทผู้ผลิตและวิจัยยาแนวหน้าของโลก ผู้ผลิตวัคซีนชนิด mRNA “ไฟเซอร์-ไบออนเทค” คาดการณ์ว่า ในปีนี้ บริษัทจะมีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยยอดขาย 9.8 หมื่น - 1.02 แสนล้านดอลาร์ (ราว 3.2 - 3.3 ล้านล้านบาท)
โดยบริษัท คาดว่า ยอดขายวัคซีน จะมีมูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) และยอดขายจากยาต้านไวรัสโควิด “Paxlovid”จะอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.23 แสนล้านบาท)
“Albert Bourla” ซีอีโอของ ไฟเซอร์ กล่าวว่า เป็นไปได้ว่ายอดขายของยา Paxlovid อาจสูงกว่าที่บริษัทคาดการณ์ ขึ้นอยู่กับว่ามียอดการสั่งจองที่สำเร็จลุล่วง หรือใกล้สำเร็จลุล่วงมากน้อยเพียงใด ด้าน Angela Hwang หัวหน้าฝ่าย Biopharmaceuticals ของ ไฟเซอร์ เสริมว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขายยา Paxlovid กับกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
ในปีที่ผ่านมา รายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 อยู่ที่ 2.38 หมื่นล้าน (7.82 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้กว่าครึ่ง เกิดจาก ยอดขายวัคซีนที่มีมูลค่า 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ (4.11 แสนล้านบาท) รายได้จาก การจำหน่ายยา Paxlovid มีมูลค่า 76 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.5 พันล้านบาท) ซึ่งยาต้านไสรัสของไฟเซอร์นี้ ได้รับอนุมัติจากอย. สหรัฐในเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา
ในด้านของกำไร ไฟเซอร์ฟันกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ไปถึง 3.39 พันล้านดอลลาร์ (1.11 แสนล้านบาท) สูงกว่ากำไรของไตรมาสสุดท้ายปี 2020 ถึง 4 เท่า
โดย Bourla เสริมว่า ไฟเซอร์ จะร่วมมือกับ บริษัท Beam Theraperutics เตรียมเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ในการนำเทคโนโลยี mRNA ไปต่อยอด เพื่อพัฒนาวัคซันสำหรับโรคหายาก ที่เกิดจากพันธุกรรม ในกลุ่มที่เกี่ยวกับตับ กล้ามเนื้อ และระบบประสาทส่วนกลาง บริษัทยังหวังอีกว่า จะสามารถ ลดระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาวัคซีน จาก 3 เดือน เหลือ 2 เดือน โดยร่วมมือกับบริษัท Codex DNA ใช้ระบบออโตเมชัน เข้ามาช่วยในกระบวนการการสร้าง mRNA นอกจากนี้ ไฟเซอร์ ยังร่วมมือกับ ไบออนเทค พัฒนา วัคซีนรักษาโรคงูสวัด อีกด้วย
Mikael Dolsten ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ รายงานความเคลื่อนไหวของการการพัฒนา วัคซีนชนิด mRNA รักษาไข้หวัดของบริษัทว่า จะเดินหน้าทดลองในเฟสที่ 2 หรือ 3 ในปีนี้ และสรุปผลการศึกษาภายในปี 2023 ส่วนวัคซีนรักษาโรคจาก ไวรัส RSV (ไวรัสชนิดที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง มักเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี) บริษัทคาดว่าจะสรุปและประกาศผลการทดลองในคน สู่สาธารณะได้ในไตรมาสที่สอง
ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ไฟเซอร์ ได้เริ่มนำ วัคซีนต้านโควิด-19 รุ่นที่สามารถต้านทานไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ มาทดลองกับอาสาสมัครที่มีอายุ 18 - 55 โดย Bourla คาดว่าวัคซีนจะพร้อมใช้งานในเดือนมีนาคม
ไฟเซอร์และไบออนเทค กำลังอยู่ในระหว่าง เร่งขออนุมัติการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในเดือนนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติการฉีดวัคซีนในสหรัฐ ไฟเซอร์คาดการณ์ว่าเด็กในกลุ่มอายุดังกล่าว จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิครบทั้ง 3 เข็มในท้ายที่สุด แต่บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ควบคู่กับการทดลองวัคซีนเข็มที่ 3 ไปพร้อมกัน
Bourla คาดว่าไวรัสโควิด-19 คงจะไม่หายไปโดยสมบูรณ์ เพราะไวรัสได้กระจายไปทุกที่ทั่วโลก และกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน โดยกล่าวว่า ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า ภูมิที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อนั้น ไม่สามารถป้องกันการแพร่พันธุ์ และการกลายพันธุ์ของไวรัสได้