ก.ล.ต. เบรกนักลงทุนไทยเทรด ‘Bitcoin ETF’ ชี้เป็นหลักทรัพย์ที่ยังไม่สามารถออกเสนอขายในประเทศไทยได้ สกัดนักลงรายย่อย - บลจ. ขอเวลาศึกษาเพิ่มเติม
จากกรณีหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (ก.ล.ต. สหรัฐฯ) ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวม Spot Bitcoin ETF และอนุญาตให้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยบางแห่งได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ลงทุนออกไปลงทุน Spot Bitcoin ETF โดยตรงนั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอแจ้งว่า ก.ล.ต. ได้ติดตามพัฒนาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และยังไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้มี Spot Bitcoin ETF ในประเทศไทย โดยเมื่อพิจารณาการระบุถึงประโยชน์ของ Spot Bitcoin ETF ที่ได้รับอนุญาตในสหรัฐฯ ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในบิทคอยน์ในกองทุนรวมที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ได้ รวมถึงประโยชน์ของการดูแลการเก็บรักษาบิทคอยน์ในกองทุนรวม ETF ที่ได้มีการกำกับจาก ก.ล.ต.สหรัฐฯ นั้น
ประเทศไทย ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล) ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านการซื้อขายกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ตลอดจนเพื่อให้การซื้อขายเป็นธรรมและโปร่งใส
ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ ที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 9 ราย โดยให้บริการการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีภายใต้ Listing Rule ของศูนย์ซื้อขายฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. อีกด้วย (บิทคอยน์เป็น 1 ในสกุลของคริปโตเคอร์เรนซีที่มีการซื้อขายอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว) รวมทั้งมีกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าต้องมีระบบการบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Wallet) และกุญแจ (Cryptographic Key) เพื่อให้การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทรัพย์สินของลูกค้ามีความปลอดภัย
สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถให้บริการลูกค้ารายย่อยไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างประเทศได้ แต่ผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่สามารถออกเสนอขายในประเทศไทยได้ จากการที่ Spot Bitcoin ETF รวมถึงหลักทรัพย์อื่นที่อ้างอิงคริปโตเคอร์เรนซี เช่น Depositary Receipt (DR) เป็นหลักทรัพย์ที่ยังไม่สามารถออกเสนอขายในประเทศไทยได้ ดังนั้น จึงเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่อยู่ในขอบเขตที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยสามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศลงทุนโดยตรงได้ รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กองทุนรวมไปลงทุนตรงใน Spot Bitcoin ETF ได้โดยตรงเช่นกัน
โดย ก.ล.ต. ได้เน้นย้ำถึงการ ให้ความสำคัญกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ ที่จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนในการได้รับคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม และเห็นว่าในปัจจุบันนี้ พัฒนาการของ Spot Bitcoin ETF ในต่างประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และอาจยังไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรงที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงขอติดตามพัฒนาการ การกำกับดูแล และการดำเนินการในด้านต่างๆ ให้มั่นใจเพียงพอ ถึงมาตรการคุ้มครองดูแลผู้ลงทุน เพื่อพัฒนาแนวทางการกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลต่อไป
นายนเรศ เหล่าพรรณราย นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้อำนวยการ บริษัท คริปโตซิตี้ คอนเน็กซ์ จำกัด เผยว่า จากประกาศของก.ล.ต. เรื่อง Bitcoin ETF ฉบับนี้นั้น มีจุดที่น่าสนใจอยู่ตรงข้อความที่ว่า
“... และเห็นว่าในปัจจุบันนี้ พัฒนาการของ Spot Bitcoin ETF ในต่างประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และอาจยังไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรงที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน”
ข้อความดังกล่าวนี้ เป็นการสื่อสารที่สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ระบุถึงแนวปฏิบัติการส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัลของก.ล.ต. ชุดใหม่ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการระดมทุนด้วยการออกโทเคนดิจิทัล หรือ ICO โดยจะยังคงคุมเข้มการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่างๆ อยู่ ผ่านการกำกับดูแลที่เข้มข้น ซึ่งนับว่ามีมุมมองในแง่บวกมากขึ้น และเป็นพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มากขึ้น
ส่วนช่วงที่ว่า “พัฒนาการของ Spot Bitcoin ETF ในต่างประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้น” นั้น นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เผยว่าหากลองดูนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนใน Bitcoin ETF เป็นกลุ่มแรกๆ นั้น จะพบว่าเป็นกลุ่ม ‘Risk Taker’ หรือกลุ่มที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น กองทุน Hedge Fund, บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ, กองทุนของมหาวิทยาลัย
แต่กลุ่มที่อาจจะสามารถมาใช้เป็นตัวชี้วัดถึงพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ spot Bitcoin ETF ได้ คือกลุ่มที่เป็นกองทุน Pension Fund (กองทุนบำเหน็จบำนาญ) หรือ Retirement Fund (กองทุนเพื่อการเกษียณ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ) ซึ่งจะลงทุนเป็นระยะ 4-5 ปีขึ้นไป และมองหาสินทรัพย์มีการเติบโตอย่างมั่นคง หากกองทุนเหล่านี้เริ่มหันมาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ Bitcoin ETF อย่างมีนัยสำคัญเมื่อไร ก็อาจทำให้ก.ล.ต. มีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้นได้