กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแถลงวานนี้ (28 มี.ค. 65) ว่า ทางกระทรวงจะทำการสอบสวนการนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์จาก 4 ประเทศในอาเซียน คือ ประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ว่าเป็นการช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงมาตรการทางด้านภาษีจากทางสหรัฐ หรือไม่
รายงานระบุว่า สหรัฐนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์จาก 4 ประเทศดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งหากพบว่าการนำเข้าดังกล่าวช่วยเอื้อประโยชน์ให้จีน สามารถหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐ ก็จะทำให้สหรัฐเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกลุ่มประเทศดังกล่าวจำนวน 50-250%
ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มแผงโซลาร์เซลล์และโมดูลจากจีน ถูกสหรัฐตั้งกำแพงภาษีมาตั้งแต่ปี 2012 ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เนื่องจากสหรัฐตัดสินว่าบริษัทผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน ทำให้สามารถขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดได้ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขันในตลาด
แต่ในช่วงหลังจากนั้นมา ก็พบว่า มีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากใน 4 ประเทศอาเซียนที่ถูกระบุถึง โดยทั้ง 4 ประเทศนี้ ไม่ได้ถูกสหรัฐตั้งกำแพงภาษีด้วย
ก่อนหน้านี้ Auxin Solar ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มายังประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐ หรือไม่
อย่างไรก็ดี สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ (SEIA) ได้แถลงเตือนว่า การสอบสวนดังกล่าวจะส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐหยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงมาแล้วอันเนื่องจากต้นทุนในระดับสูง, ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยท้าทายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วสหรัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีเวลาในการสืบสวนสอบสวน 150 วัน ก่อนจะประกาศผลการสอบเบื้องต้นออกมา จากนั้นจะมีเวลาอีก 300 วัน ในการประกาศผลสอบสวนครั้งสุดท้าย และยังสามารถขยายผลสอบได้อีก 65 วัน