เช็คสภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ท่ามกลางวิกฤติรอบด้าน
ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บ. หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
คลื่นลมทะเลที่เย็นสบายบนเกาะภูเก็ต ช่างแตกต่างกับความเป็นจริงในโลกเศรษฐกิจการเงินที่ผู้เขียนจากมาเป็นยิ่งนัก เพราะในตลาดการเงินโลก ในไทยหรือแม้แต่ในโลกคริปโตเอง เริ่มเห็นความปั่นป่วนที่เทียบเคียงได้กับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤต Covid หรือแม้แต่วิกฤตต้มยำกุ้งเอง ในฝั่งโลกความเป็นจริง ข้าวของที่แพงขึ้นทั่วโลก สถานการณ์ขาดแคลนอาหารและพลังงานจนนำมาสู่การประท้วงในหลายประเทศ เช่น ในศรีลังกา หรืออิหร่าน สงครามและความแร้นแค้นในยูเครน รวมถึงวิกฤตผู้อพยพในยุโรปตะวันออก ภาพเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความเสี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจไทยในอนาคต
"ดังที่ได้เขียนไว้ในบทความที่แล้ว "นับถอยหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก" ผู้เขียนเชื่อว่าในปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญวิกฤต อันเป็นผลจากเงินเฟ้อที่สูงและลากยาว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น โดยจากแบบจำลองของผู้เขียน คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยจนสุดที่ประมาณ 2.75-3.00% ในต้นปีหน้า ก่อนที่จะเกิดความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินโลกจนในที่สุด Fed จะต้องยุติการขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดลง แต่เศรษฐกิจก็จะยังชะลอต่อไปจนเกิดวิกฤตในไตรมาส 2 ปี 2024"
แม้ว่าแบบจำลองจะมองว่าวิกฤตจะเกิดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่ในภาคส่วนเศรษฐกิจโลกอื่น ๆ ความเสี่ยงมีมากขึ้น โดยในยุโรป ความเสี่ยงสงครามมีแนวโน้มลากยาวมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีปูตินกล่าวสุนทรพจน์ใน V-day โดยกล่าวว่ารัสเซียพร้อมต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนมาตุภูมิ บ่งชี้ว่ารัสเซียจะยังพร้อมต่อสู้เพื่อครอบครองยูเครนที่มองว่าเป็นดินแดนเดียวกับรัสเซีย สอดคล้องกับ ผอ. หน่วยข่าวกรองกลาโหมสหรัฐที่มองว่าสงครามมีแนวโน้มรุนแรงในระยะถัดไป
ด้านเศรษฐกิจจีนความเสี่ยงมีมากขึ้นจากการ Lockdown เซี่ยงไฮ้ที่ยาวนานเข้าสู่เดือนที่สอง ท่ามกลางผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นด้าน Supply chain โดยล่าสุด ผอ. องค์การสาธารณสุขโลกหรือ WHO ได้ออกมาพูดว่านโยบาย Covid zero ของจีนไม่สามารถทำได้ในระยะยาว แต่รัฐบาลจีนยังคงยืนกรานทำต่อ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจจีนจะตกต่ำต่อเนื่อง โดยล่าสุดการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักวิจัย Bloomberg พบว่านักเศรษฐศาสตร์มองว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวได้ 4.9% ต่ำกว่าที่่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5.5%
ในส่วนของผู้เขียนเอง เชื่อว่าจีนจะยังคงทำนโยบาย Covid zero อย่างต่อเนื่อง จนกว่าการสถาปนาขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของสีจิ้นผิงสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้จีนต้องปิด ๆ เปิด ๆ เศรษฐกิจหากเริ่มมีการแพร่ระบาดของ Omicron ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจในประเทศต่อเนื่อง โดยล่าสุดการส่งออกของจีนชะลอลงมาก เหลือเพียง 3% จากระดับ 10-20% ในช่วงที่ผ่านมาด้วยภาพดังกล่าว จะทำให้วิกฤตในประเทศตลาดเกิดใหม่มีมากขึ้น รวมถึงไทยเองมีมากขึ้น
ในส่วนของชีพจรเศรษฐกิจไทยเอง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนล่าสุด (มี.ค.) เริ่มมีทิศทางชะลอลงแล้ว ทั้งการบริโภคที่ชะลอจากการระบาดของ Omicron ระลอกใหม่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น กระทบต่อการจับจ่ายสินค้าคงทนและกึ่งคงทน (ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในระดับหนึ่ง เพราะประชาชนต้องนำเงินมาใช้จ่ายสินค้าจำเป็นมากขึ้น) ในส่วนของการลงทุนเริ่มชะลอทั้งการลงทุนด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องมือเครื่องจักร ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มหดตัว จากปัญหา Supply Chain และความต้องการในตลาดโลกเริ่มชะลอลง ขณะที่ภาคบริการเริ่มชะลอลงจากภาคการค้า แต่นักท่องเที่ยวยังขยายตัวดี คนเริ่มกลับมามีงานทำบ้าง แต่ความเสี่ยงในระยะต่อไปคือเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากอย่างรวดเร็วจากสงคราม และนโยบายการเงินของ Fed ที่ตึงตัว
(1) สงครามยูเครน โดยคาดว่าจะยุติกลางปีถึงปลายปี (หรือเลวร้ายสุดคือไม่ยุติในปีนี้) จากที่เคยคาดว่าจะยุติภายใน 1-2 เดือน
(2) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ มองว่าราคาจะเฉลี่ยที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ จากที่เคยมองที่ 80 ดอลลาร์
(3) การตรึงราคาดีเซลของกองทุนน้ำมัน มองว่าราคาดีเซลในปีนี้จะเฉลี่ยที่ 35-38 บาท จากที่เคยมองว่าจะอยู่ที่ 30 บาท
(4) ค่าแรงขั้นต่ำ มองว่าจะปรับขึ้นเป็น 360-400 บาทในครึ่งปีหลัง จากที่เคยมองว่าจะคงที่ 310-336 บาทต่อวัน
(5) การส่งออก มองว่าจะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 6% จากปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากที่เคยมองว่าจะขยายตัวที่ 2%
(6) นักท่องเที่ยว ยังมองว่าจะขยายตัวที่ 8 ล้านคน (แต่มีความเสี่ยงลดลงได้ถึง 4 ล้านคน)
(7) ค่าเงินบาท มองว่าอาจอยู่ในระดับ 33-35 บาทได้
ด้วยภาพดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ประมาณ 2.9-3.4% ในปีนี้ ชะลอลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 3.6% โดยภาคเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอลง ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศอาจดีขึ้นบ้างกว่าที่เคยคาดไว้ (ส่งออกของไทยไตรมาสแรกขยายตัวกว่า 15%) แต่ความเสี่ยงก็มากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก (สะท้อนจากตัวเลขส่งออกจีนที่่เริ่มลดลงมาก)
"ภาพดังกล่าวทำให้ธีมเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนไป จากที่เคยคาดว่าจะเป็น 2-4-4-8 (การส่งออกโต 2% การบริโภคโต 4% เศรษฐกิจโตเกือบ 4% และนักท่องเที่ยว 8 ล้านคน) เป็นธีม 6-3-3-8 โดยการส่งออกโต 6% จากการเปิดเมือง ขณะที่การบริโภคในประเทศอาจเหลือ 3% โดยถูกกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ Covid zero ในจีน (ที่กระทบต่อภาคการผลิตและส่งผ่านสู่ผู้บริโภค) โดยการบริโภคในภาพใหญ่อาจไม่ชะลอลงมากนัก แต่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อคนรากหญ้าที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่คืออาหารและการเดินทางมากกว่า ส่วนเศรษฐกิจโดยรวมหรือ GDP โตประมาณ 3% ขณะที่นักท่องเที่ยวยังให้ที่ 8 ล้านคน โดยมองว่าไตรมาส 2-4 จะมีนักท่องเที่ยวที่ 1.5, 2 และ 4 ล้านคนตามลำดับ"
ทั้งนี้ ผู้เขียนมีความกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ โดยปัจจุบัน แม้เงินเฟ้อเดือน เม.ย. เริ่มชะลอตัว แต่หากพิจารณา Momentum ของเงินเฟ้อแล้ว พบว่าเห็นสัญญาณการกระจายตัวของเงินเฟ้อมากขึ้น โดยเงินเฟ้อจากอาหารและการเดินทาง (ที่มีราคาน้ำมันเป็นองค์ประกอบสำคัญ) มีสัดส่วนน้อยลงในองค์ประกอบเงินเฟ้อ บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกระจายตัวเข้าสู่หมวดอื่น ๆ มากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ คือ เงินเฟ้อเริ่มลาม จากแค่ราคาอาหารสดและน้ำมัน ไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น
ในระยะต่อไป ผู้เขียนกังวลมากขึ้นว่าต้นทุนการผลิตจะเป็นตัวดึงเงินเฟ้อผู้บริโภคขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบและค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับในปี 2006 และ 2008 เนื่องจากผู้ผลิตแบกรับต้นทุนไม่ไหว และหากค่าจ้างมีการปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย จะเกิดภาวะ Wage-price spiral ดังเช่นในช่วง 2 ปีข้างต้นที่ราคาน้ำมันดีเซลถูกปรับขึ้นก่อน (ไปอยู่ระดับ 44 บาทต่อลิตร) แล้วทำให้ลูกจ้างต้องเรียกร้องค่าจ้างขึ้น ทำให้ค่าจ้างขยายตัวถึง 25% และนำไปสู่เงินเฟ้อที่่ระดับ 9%
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังกังวลประเด็นดอกเบี้ยนโยบาย โดยในปัจจุบัน เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทั่วเอเชีย และค่าเงินเอเชียที่อ่อนค่าลงมากทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฮ่องกง (ที่ปัจจุบันเริ่มถูกโจมตีค่าเงิน) และนิวซีแลนด์ ทำให้ผู้เขียนมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก โดยถ้าไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ก็จะเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาเงินทุนไหลออก แต่หากปรับขึ้น ก็จะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางในปัจจุบัน
วิกฤตรอบด้านทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ผู้อ่านทั้งหลาย โปรดระมัดระวัง
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด