ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 แม้ว่าต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกแล้ว ยังต้องจับตาปัจจัยการเมืองภายในประเทศอีกด้วยว่าจะราบรื่น มีเสถียรภาพ เพื่อเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าปัจจุบันหรือไม่
ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมไตรมาส 1 ที่รายงานโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ล่าสุดพบสัญญาณที่ดีทั้งตัวเลขการจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง
อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 3 ปี
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า อัตราการว่างงานเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ แม้มีผู้ว่างงานกว่า 4.6 แสนคน แต่มีอัตราที่แตะต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยลดลงเหลือ 1.05% จาก 1.15% สอดรับกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด19
เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการการเติบโตเร็วและฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาสแรก โดยมีแรงหนุนจากอุตหกรรมการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ หลังการแพร่ระบาดของโควิด19
ขณะที่อัตราการจ้างงานในเดือน ม.ค.-มี.ค.66 มีกว่า 39.6 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นขยายตัวกว่า 2.7% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรมก็เพิ่มขึ้น 1.6% ขณะที่อัตราการจ้างงานสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า หดตัว 7.2% และสาขาก่อสร้างมีการหดตัว 1.6% นอกจากนี้ยังมีผู้ทำงานล่วงเวลากว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% ซึ่งภาพรวม ผู้ทำงานล่วงเวลาภาคเอกชนอยู่ที่ 44.3 ช.ม./สัปดาห์ และภาครัฐอยู่ที่ 41.1 ชม./สัปดาห์ ตัวเลขการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1
3 ปัจจัยกระทบตลาดแรงงาน
ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง การออมยังต่ำ
สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไทยในช่วงโควิด 19 ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะอยู่ในระดับสูงแต่ล่าสุดในไตรมาส 4/66 มีมูลค่ากว่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 86.9% โดยสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาครพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้สินเชื่อยานยนต์ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะอาจมีหนี้เสียมากขึ้น
ส่วนในภาคการออมของคนไทยจากข้อมูลปี 2564 พบว่า มีครัวเรือนไทยถึงร้อยละ 72 มีการออมเงิน แต่มูลค่าการออมกลับไม่สูงนักและมีแนวโน้มลดลง ทำให้ครัวเรือนไทยกว่าร้อยละ 86 มีเงินออมในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในระยะเวลา 1 ปี หากต้องหยุดทำงาน ตลอดจนไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในยามเกษียณ