“ การท่องเที่ยงแบบยั่งยืนของไทย มีจุดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยาวนาน มีคุณค่าต่อการสืบทอด ควรนำจุดเด่นต่าง ๆ มาเล่าเรื่อง (Story Telling) ถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าสนใจ และเป็นที่รู้จัก และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่และชุมชน”
จากการสำรวจโดย Sustainable Travel Study 2022 ของ Expedia Group และ Wakefield Research พบว่า นักท่องเที่ยวที่ใช้เกณฑ์เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องหลักในการตัดสินใจท่องเที่ยวมีสูงถึง 90%
สำหรับนักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีถึง 69% นักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนมีถึง 66% และนักท่องเที่ยวสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชนมีถึง 65%
โดยเป็นการสำรวจนักท่องเที่ยวอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 11,000 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น
ชี้ชัดว่า นักท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หนุนเศรษฐกิจชุมชน สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น
ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และมีชุมชนท้องถิ่นจำนวนที่มีเรื่องเล่าดีๆ มีวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจ ช่วยน่าค้นหา และท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะสามารถผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ และช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจชุมชน และประเทศไทยได้
“ การท่องเที่ยงแบบยั่งยืนของไทย มีจุดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยาวนาน มีคุณค่าต่อการสืบทอด ควรนำจุดเด่นต่าง ๆ มาเล่าเรื่อง (Story Telling) ถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าสนใจ และเป็นที่รู้จัก และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่และชุมชน”
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้นำโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) มาปรับใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองพฤติกรรม ค่านิยม และเทรนด์การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
รวมทั้ง แนะให้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวเอาใจนักท่องเที่ยว กลุ่ม Baby Boomer พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างรายได้ เกิดการจ้างงานในชุมชน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก
ปีนี้ได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกและรวบรวมข้อมูลวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 20 กลุ่ม ทั้งภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการ จากการลงพื้นที่ทำให้พบว่ามีวิสาหกิจชุมชน ที่นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่ เป็นวิสาหกิจชุมชนด้านบริการการท่องเที่ยวที่มีดินแดนทะเล 3 ด้าน วัฒนธรรม 3 สาย คือ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน (บาบ๋าย่าหยา) มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Tourism) มีเส้นทางการการท่องเที่ยวใกล้ชิดธรรมชาติ ดูวิถีของชุมชน ชาวประมง นั่งเรือชมท้องทะเลและถ้ำ ควบคู่กับการให้ข้อมูลการอนุรักษ์ และการดูแลทรัพยากรชายฝั่ง
รวมถึง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ที่ให้นักท่องเที่ยวไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน (วัด ศาลเจ้าจีน) กิจกรรมระบายสีผ้าบาติก และมีโฮมสเตย์สำหรับให้นักท่องเที่ยวพัก นอกจากนี้ ยังมีการคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการคัดแยกขยะในชุมชน และให้นักท่องเที่ยวสนับสนุนการซื้อคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน (CO2) ที่เกิดจากการทำกิจกรรมท่องเที่ยวภายในชุมชนอีกด้วย
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต เป็นกลุ่มบริการด้านการท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน (local experience) มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น เที่ยวชมอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ ที่มีสถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนยูโรเปียน” กิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำขนมอังกู๊ กิจกรรมทำผัดหมี่ฮกเกี้ยน เป็นอาหารท้องถิ่นของชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต และมีการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในวิสาหกิจชุมชน
โดยมีจุดเด่น ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ โดยเก็บข้อมูลจุดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว และนำมาวางแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามจุดต่างๆ และจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตู้สมทบชดเชยคาร์บอนโดยสมัครใจให้นักท่องเที่ยวได้บริจาคสมทบการชดเชยการปล่อยคาร์บอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยว
คนยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพ ปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญแก่การผลิตและบริโภคที่จะกระทบถึงธรรมชาติ ส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนไป การผลิตสินค้าและบริการภายใต้แนวคิด BCG จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ล่าสุด ตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในปีตั้งแต่ต้นปี จนถึง 23 พฤษภาคม 2566 จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีจำนวนทั้งหมด 8,659,638 คน เพิ่มขึ้น 995.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนมีเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด -19 และปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยราว 25 ล้านคน และมีโอกาสทะลุไป 30 ล้านคนได้
เพราะฉะนั้น แหล่งท่องเที่ยวชุมชนในทั่วประเทศไทย ให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต จะช่วยให้เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจแต่ละชุมชนขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และถือเป็นการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวไทยให้ทุกประเทศทั่วโลกได้รู้จักไทยมากขึ้น ถือเป็นการมุ่งสู่ SOft Power ให้กับประเทศไทยได้ดีเลยทีเดียว
นักท่องเที่ยวจะได้รู้จักวัฒนธรรมแต่ละชุมชน ได้เรียนรู้ และสัมผัสธรรมชาติ สัมผัสรสชาติของอาหารท้องถิ่น ช่วยกระตุ้น Soft Power ได้ดีเลยทีเดียว