KKP Research ชี้สังคมผู้สูงอายุอาจทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยซบเซาลงในระยะยาว เพราะจะทำให้มีจำนวนผู้ซื้อน้อยลง นอกจากนี้ยังเจอแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ที่ทำให้การกู้ซื้อบ้านมีต้นทุนสูงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง
โดยถึงแม้บทบาทของอสังหาฯ ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่การที่ภาคอสังหาฯ ชะลอตัวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องในภาคอสังหาฯ และภาคการเงินผ่านกลุ่มธนาคารและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณภาพทรัพย์สินมากขึ้น
ในอดีตตั้งแต่ช่วงปี 1970-2022 มีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาฯ ในประเทศไทยมาโดยตลอด เช่น จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องระหว่างปี 1970-2022 อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และอัตราขยายตัวของเมื่องที่สูง ส่งผลให้ขนาดของภาคอสังหาฯ ไทยมีสัดส่วนมากถึง 20% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2010s เนื่องจากทั้งปัจจัยในอดีตที่เคยขับเคลื่อนการเติบโตภาคอสังหาฯ กำลังเปลี่ยนทิศทาง และมีแนวโน้มส่งผลให้ภาพรวมอสังหาฯ ไทยชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า โดย 5 ปัจจัยสำคัญที่กำลังทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังมีแนวโน้มหดตัว คือ
1. จำนวนประชากรไทยที่โตช้าลงเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มจะหดตัวในปี 2030 โดยจากข้อมูลของ KKP จำนวนประชากรในกลุ่มที่มีแนวโน้มจะซื้อบ้าน (อายุ 25-54 ปี) ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรช่วงอายุ 25-34 ปีจะหดตัวมากถึง 2.1 ล้านคน หรือหายไป 21% จากจำนวนปัจจุบัน ทำให้ความต้องการซื้อบ้านของคนไทยโดยรวมจะลดลง
2. การขยายตัวของสังคมเมืองมีแนวโน้มชะลอตัว เพราะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่ากับในอดีตและอาจชะลอตัวลงหากแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวตามภาวะ Deglobalization ส่งผลให้การย้ายแรงงานไปยังภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มชะลอตัวได้ในอนาคต
โดยตั้งแต่ปี 2000 การขยายพื้นที่เขตเมืองออกไปยังต่างจังหวัดมีบทบาทน้อยต่อการเพิ่มขึ้นของ Urbanization ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะประเทศไทยเป็นเมืองโตเดี่ยว (Primate City) ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลให้การย้ายถิ่นฐานของประชากรมีบทบาทมากกว่า
นอกจากนี้ แรงงานภาคเกษตรในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ของแรงงานทั้งหมด โดยมากกว่าครึ่งมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนถิ่นฐานน้อยกว่าวัยทำงาน ส่งผลให้การย้ายถิ่นฐานจากชนบทมายังพื้นที่เมืองของแต่ละจังหวัดมีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า
3. รายได้ของครัวเรือนไทยเติบโตช้าไม่ทันราคาบ้านที่เพิ่มเร็วขึ้น สะท้อนจาก Property price to income ratio ที่เพิ่มสูงขึ้น หรือราคาบ้านปรับขึ้นเร็วกว่ารายได้โดยรวม ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอลงและคนไทยเข้าถึงบ้านได้ยากขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าครึ่งสามารถกู้ซื้อบ้านได้ที่ระดับ 1-2 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วตามราคาที่ดิน ส่งผลให้บ้านในช่วงราคา 1-2 ล้านมีสัดส่วนน้อยลง
4. ดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ตลาดบ้านขยายตัวได้จำกัด ในช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยเริ่มเปลี่ยนเป็นทิศทางขาขึ้น และอาจไม่กลับไปต่ำเหมือนในอดีตจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายประการ ซึ่งจะลดกำลังซื้อและเพิ่มภาระหนี้ให้กับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริง ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อสำหรับการลงทุนปล่อยเช่าอาจจะขยายตัวได้ยากขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นและภาวะการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น
5. หนี้ครัวเรือนที่สูง การบริโภคของไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตผ่านการก่อหนี้เป็นส่วนสำคัญ ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยแตะระดับสูงสุดเกิน 90% ของ GDP ในปี 2022 ภาระหนี้ที่สูงขึ้นในขณะที่รายได้เติบโตช้าจะทำให้คนไทยกล้าก่อหนี้ด้วยการซื้อบ้านน้อยลง ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 80% ของ GDP
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์อาจปรับกฏเกณฑ์การพิจารณาปล่อยกู้ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคครัวเรือนไทยเข้าสู่ภาวะการลดภาระหนี้ในระบบที่เรียกว่า Deleveraging Cycle ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนรวมทั้งบ้านจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยช่วงขาลงของวัฏจักรสินเชื่อในประเทศญี่ปุ่น อเมริกาและ อังกฤษใช้เวลาถึง 1-2 ทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีแนวโน้มที่จะซบเซาลงทั่วประเทศเนื่องจาก 5 ปัจจัยดังกล่าว แต่อสังหาฯในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ยังมีศักยภาพขยายต่อได้ เพราะหลายปัจจัยในการกำหนดทิศทางภาคอสังหาฯของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความแตกต่างจากภาพรวมประเทศไทย และยังมีแรงสนับสนุนจาก 3 ปัจจัย คือ
1. การย้ายถิ่นฐานของประชากรจากนอกเมืองมายังเมืองใหญ่ เพราะแหล่งงาน การศึกษาและ การแพทย์กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวได้มากถึง 5.6% ในขณะที่จำนวนครัวเรือนในภาคเหนือไม่โตและภาคอีสานกลับหดตัวเฉลี่ย -1.2% ในช่วงปี 2012-2021 การย้ายถิ่นของประชากรจึงเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาฯใหม่ๆ
2. การขยายส่วนต่อของเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังชานเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑล เพราะเส้นทางรถไฟจะเพิ่มศักยภาพให้กับหลายทำเล ทำให้สามารถพัฒนาโครงการอสังหาฯ ได้สอดคล้องกับกำลังซื้อคนไทยมากกว่าในตัวเมืองที่มีราคาสูง สะท้อนจากอสังหาฯ แถบชานเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามความหนาแน่นประชากรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่
3. แรงซื้อจากต่างชาติที่เน้นซื้ออสังหาฯ ในกรุงเทพและจังหวัดท่องเที่ยว โดยปัจจุบันชาวต่างชาติเป็นผู้ซื้ออสังหาฯ โดยเฉลี่ยประมาณ 15% ของตลาดอสังหาฯไทยทั้งหมด โดยเน้นซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน นอกจากนี้ เนื่องจากวิกฤตประชากรที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า รัฐบาลไทยอาจต้องเร่งออกมาตรการและนโยบายผลักดัน Immigration policy เพื่อสนับสนุนตลาดอสังหาฯ และกระตุ้นให้มีที่ตลาดสำหรับผู้พักอาศัยต่างชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม KKP ยังมองว่าภาคอสังหาฯ ไทยยังคงมีความเสี่ยงสำคัญ เพราะแรงซื้อต่างชาติมากกว่าครึ่งมาจากจีน ซึ่งลงทุนซื้ออสังหาฯ เพื่อมาปล่อยเช่ามากกว่ามาอยู่จริง สะท้อนจากอัตรา House price-to-rent ของไทยอยู่ในระดับสูงซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์ที่แท้จริง (Real Demand)
นอกจากนี้ ไทยยังไม่ใช่ตัวเลือกอันดับหนึ่งในเอเชียสำหรับชาวจีน เพราะกลุ่มคนรวยที่มีกำลังซื้อสูงมักเลือกย้ายไปสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นมากกว่าไทย ในขณะที่ชาวจีนบางกลุ่มเลือกมาไทย เพราะราคาบ้านและค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติในไทยมีราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งการแข่งขันด้วยราคาอาจไม่ใช่จุดแข็งที่ยั่งยืนสำหรับอสังหาฯ ไทยในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แตกต่างจากอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อสังหาฯ ในเมืองรองและเขตชนบทมีแนวโน้มซบเซา เสี่ยงราคาตกสูงเพราะความต้องการที่อยู่อาศัยในจังหวัดเล็กหดตัวลงเพราะมีคนย้ายไปเมืองใหญ่มากขึ้น ส่งผลให้จะมีจำนวนบ้านเหลือมากขึ้นและเป็นแรงกดดันให้ราคาบ้านปรับลดลงได้ในอนาคต เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและจีนที่ประสบปัญหาราคาบ้านแถบชนบทหดตัว
โดยในปัจจุบัน ตลาดอสังหาฯ ในชนบทเริ่มเห็นตัวเลขปริมาณอุปทานของบ้านมากกว่าจำนวนครัวเรือนแล้ว ซึ่งสวนทางกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จำนวนบ้านในตลาดยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด
ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 10% ภาคอสังหาฯ ของญี่ปุ่นในจังหวัดเล็กชะลอตัวอย่างหนักจนมีจำนวนบ้านร้างมากกว่า 8 ล้านหลังหรือคิดเป็น 15% ของจำนวนบ้านทั้งหมด กดดันให้ราคาบ้านในญี่ปุ่นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร
KKP Research ประเมินว่าสถานการณ์ภาคอสังหาฯ ไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่อาจจะไม่รุนแรงจนลามเป็นวิกฤตเหมือนญี่ปุ่น เพราะ
ถึงแม้ภาคอสังหาฯ ไทยในอนาคตอาจไม่เกิดเป็นวิกฤตเหมือนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การชะลอลงของภาคอสังหาฯ ก็อาจส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนอื่นในเศรษฐกิจได้ ทั้งภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และภาคการเงิน (Financial Sector) เพราะอสังหาฯ เป็นอุตสาหกรรมที่มีธุรกิจเชื่อมโยงค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น ธุรกิจต้นน้ำอย่างกลุ่มก่อสร้าง และธุรกิจปลายน้ำอย่างกลุ่มธนาคาร
นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของภาคอสังหาฯ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์ และ Collateral Value เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีมูลค่ามากกว่า 30% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด และยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับผู้พัฒนาอสังหาฯ นอกจากนี้ภาคอสังหาฯ ยังเป็นธุรกิจที่มีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ทำให้หากเกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงอาจส่งผลต่อเนื่องสู่ตลาดการเงินได้