หลังโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการลงนามในคำสั่งออก Executive Order หลายฉบับที่สำคัญ ซึ่งคำสั่ง Executive Orders เป็นคำแถลงเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ มีลักษณะทางกฎหมายและการปฏิบัติการ และต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่ผ่านโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ หรือภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา
เรื่องหลักที่ทั่วโลกจับตามองคือทรัมป์จะลงนามการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับประเทศต่างๆหรือไม่?อย่างไร?
แต่ท้ายสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจยังไม่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าประเทศต่างๆในทันที โดยต้องทำการสอบสวนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติจากการที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการจัดการสกุลเงิน (currency manipulation) ของประเทศอื่นๆ
แม้จะยังไม่ขึ้นภาษีนำเข้าทันทีที่รับตำแหน่งในวันแรก แต่ 3 ประเทศ คือ จีน แคนาดา และเม็กซิโก น่าจะเป็นประเทศกลุ่มแรกที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% กับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกอย่างเร็วสุดในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนแล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดา และเม็กซิโกอาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศที่ลงนามในข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อภาคพลังงานและยานยนต์ของสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ มีการพึ่งพิงการนำเข้าและขาดดุลการค้าด้านพลังงานกับแคนาดา และด้านยานยนต์กับเม็กซิโกสูง
ซึ่งแม้สหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ แต่อาจไม่เพียงพอกับอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น การปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดาและเม็กซิโก อาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์ของสหรัฐฯ และอาจส่งผลเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ได้ ในประเด็นนี้อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน
ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีก 10 % และเป็นไปได้ที่อาจจะเป็น 1 ก.พ.68 เช่นเดียวกับ แคนาดา แม็กซิโก
ขณะที่ไทยของเราอย่าชะล่าใจ เพราะอาจมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากอาเซียนและไทยเช่นกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงขึ้นอยู่กับจังหวะการปรับขึ้นภาษีนำเข้า สินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษี รวมถึงการเจรจาของแต่ละประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูง รวมถึงสินค้าที่ไทยมีความเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยลดลงที่ราว 0.5% และกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ราว 0.3% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำถึงผลกระทบดังกล่าวไว้ในประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 2.4% แล้ว
ก่อนหน้านี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า กลุ่มสินค้าไทย ที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษีมีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า ดูจากสถิติการค้าที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61-66) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์มือถือ, ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์), ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่, หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และส่วนประกอบของของดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงโดนเก็บภาษีเช่นกัน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ตู้เย็นตู้แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปบางรายการ อาทิ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้
ทั้งนี้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ปี 2567 มีมูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก
นอกจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแล้ว สหรัฐฯ กำลังจับตาประเทศที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิต เพราะต้องการเลี่ยงสงครามการค้า และมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ โดยประเทศปลายทางที่จีนเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม (Greenfield FDI) มากเป็น 10 อันดับแรก ในปี 66 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย เวียดนาม โมร็อกโก คาซัคสถาน อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เซอร์เบีย และเม็กซิโก
ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นการเปลี่ยนเชิงนโยบายของสหรัฐฯหลังได้ประธานาธิบดีทรัมป์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงนำมาซึ่งความผันผวน ไม่แน่นอนและได้กลายเป็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกรวมถึงไทยด้วย