ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชิปเซ็ต เป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นที่ต้องการสูงทั่วโลก จากการที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทั่วโลกเริ่มแข่งขันกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งต้องใช้ชิปเซ็ตระดับสูงในการเรียนรู้และทำงานจำนวนมาก ทำให้ประเทศใดก็ตามที่สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนชิปเซ็ตได้ มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสูงตามไปด้วย
ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลายๆ ประเทศในอาเซียน รวมถึงไทยเอง ก็มีโอกาสสูงที่จะดึงดูดการลงทุน ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การผลิต การประกอบ การบรรจุ และการทดสอบชิป จากบริษัทต่างประเทศที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากจีน แต่หนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุด ก็คือ ‘เวียดนาม’ โดยเฉพาะในด้าน R&D
โดยข้อมูลจากนิกเกอิ ระบุว่า ปัจจุบัน เวียดนามเป็นที่ตั้งของศูนย์ R&D ของผู้พัฒนาชิปเซ็ตระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Marvell และ Synopsys จากสหรัฐฯ, Infineon จากเยอรมนี และ ฺBOS Semiconductors และ ADTechnology จากเกาหลีใต้
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าอุตสาหกรรมชิปเซ็ตในเวียดนามเป็นอย่างไร? พัฒนาไปขนาดไหน? และมีข้อดีอย่างไรจึงสามารถดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน และตั้งศูนย์ R&D ภายในประเทศได้สำเร็จ?
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปเซ็ต เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเติบโตสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2022 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
ในปี 2022 ‘เวียดนาม’ เป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor devices) ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอันดับ 1 คือ มาเลเซีย และอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ และเป็นผู้ส่งออกวงจรรวม (IC) อันดับที่ 11 ของโลก และอันดับ 3 ในอาเซียนรองจาก มาเลเซีย และสิงคโปร์เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและไต้หวัน โดยในปี 2023 เวียดนามส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022
ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถดึงดูดให้บริษัทพัฒนาชิปเซ็ตระดับโลกให้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (producing) โรงงานบรรจุภัณฑ์ (packaging) และทดสอบ (testing) เซมิคอนดักเตอร์ ได้รวมเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมากในการดึงดูดในบริษัทระดับโลกเข้ามาตั้งโรงงานผลิต บรรจุ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ แต่นอกจากโรงงานแล้ว อีกสิ่งที่เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดเช่นเดียวกันคือ ศูนย์ R&D หรือศูนย์วิจัยและพัฒนา
โดยปัจจุบัน เวียดนามเป็นและกำลังจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ R&D ของบริษัทชิปเซ็ตระดับโลกจำนวนมาก เช่น
นอกจากนี้ หน่วยงานของเวียดนามยังมีความร่วมมือกับบริษัทพัฒนาชิปเซ็ตเพื่อพัฒนาบุคลากร และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชิปเซ็ต เช่น ศูนย์ National Center for Innovation and Creativity ของเวียดนามที่ได้มีการลงนาม MOU กับ Synopsys ในการสร้างศูนย์พัฒนาบุคลากรในการออกแบบชิปเซ็ตในเวียดนาม
ความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งศูนย์ R&D ถือเป็นก้าวที่สำคัญมากสำหรับเวียดนามในการก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์พัฒนา ออกแบบ และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ของอาเซียนในอนาคต เพราะศูนย์ R&D เหล่านี้จะเป็นโอกาสให้วิศวกร ผู้ออกแบบชิปเซ็ต และนักศึกษา ในเวียดนามได้เรียนรู้เทคโนโลยีโดยตรงจากบริษัทระดับโลก ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นการผลิตนวัตกรรมชิปของตัวเองในอนาคต
ซึ่งหากเวียดนามสามารถปั้นอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนชิปเซ็ตขึ้นมาในประเทศได้สำเร็จ เวียดนามก็จะมีศักยภาพสูงมากในการถีบตัวเองขึ้นไปเป็นหนึ่งในประเทศรายได้สูงในอนาคต เพราะเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เป็นสินค้ามูลค่าสูงที่เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับการผลิตและพัฒนาสินค้าในอุตสาหกรรมอื่น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้แต่ละประเทศดึงการลงทุนจากต่างชาติไปได้ก็คือ “แรงงาน” หรือกำลังคน และกำลังสมอง ที่ต้องทั้งมีคุณภาพ และสร้างจต้นทุน หรือค่าแรง ต่ำกว่าที่อื่นเมื่อเทียบกับคุณภาพงานที่จะได้รับ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่นมาตรการภาษี และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการคมนาคม และไอที ที่ต้องเหมาะแก่การพัฒนาและผลิตชิประดับสูง
ปัจจุบัน เวียดนามถือเป็นแหล่งวิศวกรไอที และนักพัฒนาและออกแบบชิปเซ็ต ที่เป็นที่ต้องการของบริษัทผลิตพัฒนาชิปเซ็ตทั่วโลก เพราะมีความรู้ดี เข้าใจภาษาอังกฤษ ขยันและเอาจริงเอาจังกับการทำงาน อีกทั้งมีค่าแรงต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับวิศวกรในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Salary Explorer ระบุว่า ค่าตอบแทนเฉลี่ยของวิศวกรไอทีในเวียดนามอยู่ที่เพียง 665 ดอลลารสหรัฐ หรือราว 22,745 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าแรงเฉลี่ยของวิศวกรในสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 5,627 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 192,460 บาทต่อเดือน ในไต้หวันซึ่งอยู่ที่ 3,782 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 129,354 บาทต่อเดือน ในมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 1,313 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 44,908 บาทต่อเดือน และในไทย ที่สูงถึงประมาณ 85,100 บาท ต่อเดือน
นอกจากนี้ ประเทศที่เป็นผู้นำในการออกแบบและพัฒนาชิปเซ็ตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ ต่างก็กำลังเจอปัญหา “สมองไหล” (brain drain) เพราะปัจจุบัน วิศวกรที่มีความรู้ระดับสูงด้านไอทีในประเทศเหล่านี้ นิยมออกไปทำงานในสหรัฐฯ หรือประเทศตะวันตกที่ให้ค่าตอบแทนสูง จนบริษัทในประเทศเอเชียไม่สามารถสู้ค่าตัวได้ ทำให้บริษัทเหล่านี้หันมาใช้บริการแรงงานที่มีความรู้ในระดับเดียวกัน แต่ค่าแรงต่ำกว่าในเวียดนาม
ความสำเร็จในการสร้างกลุ่มแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเวียดนามได้มีการลงทุนสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนด้านไอที และการออกแบบชิปเซ็ตในสถาบันต่างๆ โดยในปี 2020 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนาม ได้เสนอแผนให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสินค้าไฮเทค รวมถึง IC และเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้สถาบันต่างๆ เร่งพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ออกมามากขึ้น โดยในบางครั้งก็เป็นพัฒนาหลักสูตรร่วมกับบริษัทเอกชนภายในประเทศ เช่น Viettel บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามยังได้ออกมาประกาศแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชิปเซ็ตเพิ่มเติมด้วยการสนับสนุนให้สถาบันศึกษาต่างๆ เพิ่มวิศวกรด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้ถึง 50,000 คน หรือ 10 เท่าจากปัจจุบัน ภายในปี 2030
ในปัจจุบัน เวียดนามมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 35 แห่ง ซึ่งในปี 2025 วางแผนที่จะรับนักศึกษารวมอีกกว่า 1,000 คนเพื่อมาศึกษาหลักสูตรการออกแบบชิปเซ็ตโดยเฉพาะ และนักศึกษารวมอีกประมาณ 7,000 คนเพื่อมาศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและออกแบบชิปเซ็ต
นอกจากนี้ เวียดนามยังกำลังจะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทต่างประเทศในการสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมชิปเซ็ตเพิ่มเติม เช่น Marvell ที่เสนอทุนการศึกษาและโปรแกรมฝึกงานให้แก่นักศึกษาภายในประเทศ และ Pegatron ที่เสนอทุนการศึกษาและโปรแกรมฝึกงานให้กับนักศึกษาใน Vietnam Maritime University และ Haiphong University รวมถึงร่วมออกแบบหลักสูตรในการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์
ดังนั้น เมื่อประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น มาตรการลดภาษีเงินได้สำหรับบริษัทเทคโนโลยี เสถียรภาพทางการเมือง และโครงสร้างดิจิทัลที่แข็งแรง เวียดนามจึงเรียกได้ว่ามีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต และถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับทุกประเทศในอาเซียน รวมถึงไทย ในการสร้างที่ยืนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนี้
อ้างอิง: MIC, Nikkei Asia, VIR, VietData, MTA Vietnam, VietnamNet