ข่าวเศรษฐกิจ

IMF ลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.7% จาก 4.4% เหตุคนใช้จ่ายน้อยลง ส่งออกลด

17 เม.ย. 67
IMF ลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.7% จาก 4.4%  เหตุคนใช้จ่ายน้อยลง ส่งออกลด

“ไอเอ็มเอฟ” (IMF) ปรับลดการคาดการณ์ GDP ไทยสำหรับปี 2024 เหลือ 2.7% จาก 4.4% ในรายงานฉบับล่าสุด พร้อมปรับการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มเป็น 3.2% จาก 3.1% นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเติบโต 2.7% ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.6 percentage points จากการคาดการณ์เดือนมกราคม

ในรายงาน IMF ไม่ได้เปิดเผยเหตุผลสำหรับการปรับลดการเติบโตของ GDP แต่คาดว่าเป็นการปรับลดตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ในเดือนกุมภาพันธ์ออกมาปรับประมาณการ GDP ไทยปี 2024 เหลือแค่ 2.5-3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2%

ในรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดของ ธปท. เผยว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจในภาคบริการขยายตัวตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวดขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลงเนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐก็หดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยังมีแนวโน้มลดลงจากทั้งสภาพเศรษฐกิจ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ลดกำลังซื้อของประชาชน

 

สหรัฐฯ นำการเติบโต แต่เสี่ยงเจอเงินเฟ้อ

ในระหว่างการแถลงข่าวงานประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ IMF เผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เพราะมีผลิตภาพและการเติบโตของอัตราการจ้างงานที่ดี โดยจะมีการเติบโตประมาณ 2.7% ในปีนี้ สูงกว่าประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่หลังมีการระบาดของโควิด-19 จากอัตราดอกเบี้ย และราคาพลังงานที่สูง

IMF คาดว่า เศรษฐกิจยุโรปจะเติบโตเพียง 0.8% ในปีนี้ ลดลงจาก 0.9% ในเดือนมกราคม ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 3.1% ในเดือนมกราคม ส่วนเศรษฐกิจเอเชียอย่างจีนและอินเดียนั้นจะเติบโต 4.6% และ 6.8% ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในปีนี้ ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเติบโต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นก็คือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ยังตัดสินใจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปไกลกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในเดือนมีนาคม และยังไม่เคยลงไปต่ำกว่า 3% หลังจากขึ้นไปสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายนปี 2022 ที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 IMF มองว่าสหรัฐฯ เสี่ยงต้องเจอภาวะเงินเฟ้อสูงอีกเพราะรัฐบาลมีการใช้จ่ายมาก และประเทศยังมีปัญหาหนี้ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก IMF คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ในปีนี้ ลดลงจาก 6.8% ในปี 2023 เพราะราคาเชื้อเพลิงพลังงานเริ่มลดลง และราคาของทั่วโลกเริ่มลดลงจากซัพพลายเชนที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ  แต่สถานการณ์ความไม่สงบ เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นได้ หากสถานการณ์ลุกลาม

 

ที่มา: IMF, CNN

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT