ข่าวเศรษฐกิจ

ลาววิกฤตหนัก หนี้แตะ 108% ของ GDP ขอเจ้าหนี้เลื่อนจ่ายแล้วถึง 6.9 หมื่นล้านบาท

14 ก.ค. 67
 ลาววิกฤตหนัก หนี้แตะ 108% ของ GDP ขอเจ้าหนี้เลื่อนจ่ายแล้วถึง 6.9 หมื่นล้านบาท

‘ลาว’ วิกฤตหนัก หนี้สาธารณะแตะระดับ 108% ของ GDP จนในปีนี้ต้องขอเลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปอีกครั้ง หลังขอเลื่อนจ่ายมาแล้ว 2 ครั้ง มูลค่ารวมถึง 6.9 หมื่นล้านบาท เหตุเงินกีบอ่อนค่าหนัก ทำมูลค่าหนี้ที่อยู่ในสกุลดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบัน สปป. ลาว กำลังเจอวิกฤตหนี้สาธารณะอย่างหนัก จนในปี 2024 ต้องขอเลื่อนการจ่ายหนี้อีกครั้ง เพราะค่าเงินกีบอ่อนค่าลงอย่างมากจนทำให้หนี้ต่างประเทศในปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะหนี้ต่างประเทศประมาณ 59% ของลาวอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์

ตั้งแต่ต้นปี เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น โดยอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 5.91% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าลงถึง 31% ในปี 2023 ซ้ำเติมให้ภาวะหนี้รุนแรง และทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อหนักขึ้น จากการที่ผู้นำเข้าต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่สูงขึ้น

ปัจจุบัน ลาวมีหนี้สาธารณะ และหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ทั้งหมด 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 108% ของ GDP โดยประมาณ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินที่กู้มาจาก ‘จีน’ และรัฐบาลมีแผนที่จะลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลง 5% ภายในปี 2025 

ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเพียงพอมาจ่ายหนี้ ในปี 2022 และ 2023 ลาวได้ขอเลื่อนผ่อนผันการจ่ายหนี้ต่างประเทศรวมต้นและดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นมูลค่า 1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และครั้งที่สองเป็นมูลค่า 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รวมแล้วลาวขอเลื่อนการจ่ายหนี้มารวมแล้ว 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.9 หมื่นล้านบาท

นอกจากหนี้ต่างประเทศแล้ว ในปี 2023 ลาวยังได้เจรจาขอผ่อนผันการจ่ายหนี้กับจีนเป็นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 15% ของ GDP 

จากสถานการณ์หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจนน่าเป็นห่วง สถาบันและหน่วยงานด้านการเงินทั่วโลกออกมาเตือนว่า ปัญหาหนี้ของลาวจะรุนแรงมากขึ้น จนเสี่ยงทำให้ลาวอยู่ในสถานะผิดชำระหนี้ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนมหาศาลให้กับประชาชนเกือบ 8 ล้านคนในประเทศ เพราะหนี้สาธารณะที่สูงและสถานะผิดชำระหนี้ จะทำให้รัฐบาลมีเงินทุนน้อยลงมาพัฒนาการศึกษา ระบบสาธารณสุข และบริการสาธารณะอื่นๆ ให้แก่ประชาชน และทำให้นักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในลาว ซึ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

โดย Moody’s Ratings ได้วิเคราะห์ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ปัจจุบันลาวกำลังเจอความท้าทายมากมาย ทั้งปัญหาในด้านการปกครอง โครงสร้างการเงินที่ย่ำแย่ ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ซบเซา ไม่สามารถสร้างเม็ดเงินในประเทศได้อย่างที่หวัง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ลาวรับความช่วยเหลือจากหลายประเทศ เป็นเงินกู้จำนวนมากเพื่อมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เงินและเทคโนโลยีระดับสูงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเหมือง และการทำโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ด้วยความหวังที่จะกลายเป็น “แบตเตอรี่ของอาเซียน” แต่ก็ต้องเจอปัญหาหนี้มากขึ้น และถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 ภัยพิบัติธรรมชาติ และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก จนเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควรจนปัจจุบัน

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ดำเนินมาตรการมากมายเพื่อแก้ปัญหาหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การออกกฎให้บริษัทเอกชนออกรายงานการเงินที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น การให้รัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมการบิน การค้า และพลังงานปรับโครงสร้างเป็นธุรกิจร่วมทุนกับทั้งบริษัทในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงระบบการเก็บภาษี และเพิ่มภาษีที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าที่สร้างผลเสียต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม เช่น สิ่งมึนเมา เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มาจ่ายหนี้มากยิ่งขึ้น

 

 

ที่มา: Bloomberg, Nikkei Asia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT