ในขณะที่เราคุ้นเคยกับข้อความ “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” แต่มีประโยคหนึ่งในซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha ซึ่งเพิ่งจะครบรอบ 1 ปีของการออนแอร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 ที่เพื่อนสาวของนางเอกพูดว่า “ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง จะเหยียบย่ำเราไปจนตาย” หลังจากที่เธอได้ฟังเรื่องราวของเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ ในหมู่บ้านกงจิน ที่ฝันอยากเป็นนักร้องอาชีพ แม้เขาจะเคยมีอัลบั้มเพลงเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้รับเสียงตอบรับจนไปต่อบนเส้นทางนักร้องไม่ได้ แต่เขาก็ไม่เคยหยุดฝัน หรือหยุดความพยายามนั้นเลย
ถ้าจะถามว่า ระหว่าง “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราไปถึงเป้าหมายหรือเส้นชัยที่วางไว้ กับ “ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง จะเหยียบย่ำเราไปจนตาย” เพื่อให้เราละทิ้งความพยายามที่มีโอกาสจะสูญเปล่า จะเลือกแบบไหน ? คำตอบสุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม รวมถึง “ตัวตน” ของแต่ละคน
จะไปบอกว่า อะไรถูกร้อยเปอร์เซนต์หรือไม่ถูกร้อยเปอร์เซนต์ คงจะไม่ได้ เพราะเป้าหมายของแต่ละคนก็ต่างกัน ความเป็นไปได้ของแต่ละคนก็ต่างกัน สภาพแวดล้อมที่จะเป็นอุปสรรคหรือเป็นปัจจัยสนับสนุนก็ต่างกัน
แต่ถ้าจะลองหา “ค่ากลาง” ระหว่างแนวคิดทั้งสองนี้ คำตอบก็น่าจะอยู่ที่การออกแบบความฝันให้พอดีตัว ไม่เล็กเกินไปจนไม่ท้าทาย และไม่ใหญ่เกินไปไปจนเอื้อมไม่ถึง
เคยมีข้าราชการท่านหนึ่งส่งข้อความมาขอคำแนะนำเรื่องการซื้อบ้าน ท่านเล่าให้ฟังว่า กำลังจะเกษียณในอีก 3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันใช้ชีวิตคนเดียวในบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กๆ ที่อยู่อาศัยมานานเกิน 30 ปีแล้ว ส่วนลูกสาวไปซื้อคอนโดมิเนียมอาศัยในเมือง บ้านหลังปัจจุบันอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน ขับรถไปไม่กี่นาทีก็ถึง ส่วนฐานะการเงินไม่มีหนี้ มีเงินเก็บราว 4 ล้านบาท แต่อยากจะขยับขยายด้วยการซื้อบ้านเดี่ยว ซึ่งอยู่นอกเมือง ถ้ายังทำงานอยู่ในช่วง 3 ปีนี้จะต้องมีภาระค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน รวมถึงระยะเวลาที่ใช้เดินทางไปกลับซึ่งก็น่าจะหลายชั่วโมง
ที่สำคัญคือ บ้านที่ถูกใจ เป็นบ้านในฝัน ราคาประมาณ 5 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าจะซื้อด้วยเงินที่เก็บสะสมมา ก็มีส่วนต่างอีก 1 ล้านบาทที่ต้องกู้ หมายถึงเงินที่เก็บมาก็หมดไปกับบ้าน และยังต้องกู้เพิ่มอีก ไม่นับรวมการตกแต่งเพิ่มเติม รวมถึงซื้อของเข้าบ้านใหม่
คำถามที่ลองให้ข้าราชการท่านนี้ตอบตัวเองคำถามแรก คือ บ้านใหม่ราคา 5 ล้านบาท เป็น “ความจำเป็น” หรือ “เป็นความต้องการ” ถ้าเป็นความจำเป็น เช่น บ้านเดิมอาศัยอยู่ไม่ได้แล้ว หรือที่ดินถูกเวนคืน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าแบบนั้นก็ต้องซื้อ แต่ถ้าไม่ใช่ มันก็จะกลายเป็นแค่ความต้องการ หรือแค่ “อยากได้”
ลองนึกภาพในอีก 3 ปีข้างหน้าที่วันนั้นเราไม่มีรายได้แล้ว เงินเก็บก็หมดและยังมีภาระหนี้จากการกู้ซื้อบ้านใหม่ ไม่นับรวมระยะเวลา 3 ปีที่ยังต้องขับรถไปทำงาน ที่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางเพิ่มขึ้น มีภาระผ่อนบ้าน ต้องมาเป็นหนี้ในวัยใกล้เกษียณ กับลองสะกดความอยากได้อยากมี และอดทนรออีก 3 ปี หลังเกษียณแล้ว ได้รับเงินบำเหน็จ รวมกับเงินเก็บที่มี แล้วลองหาบ้านเดี่ยวที่เป็นความฝันแบบจับต้องได้จริง ทำได้จริง ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม แล้ววันนั้นยังไม่ต้องอดทนขับรถไปทำงานให้เหนื่อย
หรือถ้ารู้สึกว่า บ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเดิมที่อยู่มานาน 30 ปีมันทรุดโทรม ไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย ก็ลองจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งมาปรับปรุงใหม่ให้มันน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่าการซื้อบ้านใหม่ แต่เหมือนได้บ้านใหม่ ที่ช่วยเพิ่มพลังชีวิตในการอยู่อาศัยได้ และอีก 3 ปีข้างหน้าถ้าจะขาย ก็น่าจะได้ราคาดีกว่า
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า ชีวิตไม่แน่นอน อยากทำอะไรให้รีบทำ เดี๋ยวจะตายเสียก่อน ก็ต้องคิดเผื่อว่า “ถ้าไม่ตายเสียก่อน” ขึ้นมา หนำซ้ำยังมีชีวิตยืนยาว แล้วจะเผื่อเหลือเผื่อขาดกับชีวิตที่เหลือยังไง
ลองออกแบบฝันให้ขนาดพอดี มีโอกาสทำให้เป็นจริงได้แบบไม่ต้องแบกไว้จนหนักเกินไป ไม่ต้อง “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” หรือไม่ยอมให้ “ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง มันเหยียบย่ำเราไปจนตาย” ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ สำคัญที่สุด คือ เราต้อง “รู้จักตัวเองให้มาก” และต้องประเมินตัวเองบนพื้นฐานของความจริงว่า อะไรที่เราทำได้ และอะไรที่เราทำไม่ได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ