มากกว่า 1 สัปดาห์แล้วสำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง สิ่งที่ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตก คือ เกรงว่าสงครามจะลุกลามบานปลายในแบบที่มีประเทศมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเป็นเช่นนั้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกคงตามมาซ้ำเติมเราทุกคน
ราคาทองคำได้ชื่อว่า เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย Safe Haven ในยามที่เกิดปัญหา เกิดวิกฤติ หรือความขัดแย้งเช่นสงคราม ราคาทองคำจมักเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้ง่าย และยังเป็นหลักประกันที่จับต้องได้
สำหรับเหตุการณ์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์ ก็ส่งผลให้ราคาทองคำดีดตัวขึ้นเช่นกัน นับจากวันแรกที่เกิดการโจมตี ดันให้ราคาทองเข้าใกล้ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ส่วนราคาทองในบ้านเรา กลับไปที่จุดสูงสุด ทองคำแท่งทะลุ 33,000 บาท
ข้อมูลจากสมาคมค้าทองคำรายงาน ราคาทองคำ 16 ต.ค. 2566 ล่าสุด ปรับ 2 ครั้ง ลดลง 100 บาท/บาททองคำ
ทองคำแท่ง รับซื้อ 32,800.00 บาท/บาททองคำ ขายออก 32,900.00 บาท/บาททองคำ
ทองรูปพรรณ รับซื้อ 32,215.00 บาท/บาททองคำ ขายออก 33,400.00 บาท/บาททองคำ
คุณจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ,นายกสมาคมค้าทองคำ ระบุว่า การที่ราคาทองคำแท่งในประเทศไทยพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 33,050 บาทต่อบาททองคำ มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ภาวะสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลก กับปัจจัยที่ค่าเงินบาท ของไทยที่อ่อนค่ามาก ทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาทองคำในประเทศอยู่ในระดับสูง เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท 10 สตางค์ มีผลต่อราคาทองคำกว่า 70 บาท/บาททองคำ
ทั้งนี้หากดูตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน ราคาทองในประเทศปรับขึ้นมาราว 3,000 บาทแล้ว ทองคำแท่งจากบาทละ 29,850 บาท มาสู่ 33,000 บาท ขณะที่ราคาทองในตลาดโลกขึ้นมา ราว 100 เหรียญ จาก 1,800 มาสู่กว่า 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เแต่มื่อสงครามยังไม่จบ…ทิศทางราคาทองคำจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ?
คุณจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ประเมินว่า โอกาสที่ราคาทองคำในตลาดโลกจะพุ่งทะลุ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอิงปัจจัยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในขณะนี้มีสัญญาณไม่ค่อยดี กำลังซื้อลดน้อยลง จึงมีโอกาสน้อยที่ราคาทองจะพุ่งทะลุ 2 พันเหรียญไปได้ไกลๆ ยกเว้นปัญหาสงครามรุนแรง บานปลาย กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การลงทุนทองคำในช่วงนี้จึงเหมาะกับการลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร หรือจะเป็นการลงทุนเพื่อการ
กระจายความเสี่ยงในช่วงสงครามก็ได้ เพราะทองยังคงเป็นสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินได้ง่าย
ขณะที่บทวิเคราะห์จาก ฮั่วเซ่งเฮง ประเมินว่า โดยปกติแล้วจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาการปะทะกันของสงครามอิสราเอลจะจบภายในระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น แต่สงครามของอิสราเอลในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับอิสราเอลเป็นอย่างมาก จึงอาจเป็นเหตุให้อิสราเอลต้องการกวาดล้างฮามาส และอาจนำไปสู่ความไม่พอใจของฝั่งประเทศที่สนับสนุนปาเลสไตน์ได้ และการที่อิสราเอลตัดสินใจเริ่มบุกโจมตีพื้นดินเข้าสู่ฉนวกกาซา
ขณะเดียวกันก็มีการโจมตีข้ามพรมแดนกันระหว่างอิสราเอลและฝั่งตอนโต้ของเลบานอน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากอิหร่าน โดยตัวแปรที่สำคัญที่อาจจะส่งผลทำให้สงครามขยายวงกว้าง คือ อิหร่าน ที่จะเข้าร่วมวงสงครามหรือไม่ เพราะถ้าแค่ปาเลสไตน์และอิสราเอลยังไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจโลกมากเท่าไหร่นัก และอยู่วงจำกัดเท่านั้น เพราะว่าปาเลสไตน์ไม่มีการผลิตน้ำมัน ส่วนอิสราเอลผลิตน้ำมันแค่วันละ 300,000 บาร์เรลเท่านั้นเอง แต่ตัวแปรหลักอยู่ที่อิหร่าน ที่ออกมาสนับสนุนปาเลสไตน์ หากอิหร่านออกมาแสดงตนเต็มตัวในการร่วมทำสงครามครั้งนี้ จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นอย่างมาก
โดยมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นแตะ 100 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ โดยบริเวณช่องแคบฮอร์มุซมีการขนส่งน้ำมันวันละ 17.2 ล้านบาร์เรลเลยทีเดียว คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของการขนส่งน้ำมันโลก โดยยูเออี คูเวต อิหร่าน กาตาร์ บาห์เรน และอิรัก ต่างใช้เส้นทางนี้ขนส่งน้ำมัน ซึ่งถ้าเส้นทางนี้ปิดก็จะส่งผลต่ออุปทานน้ำมันโลก ขณะที่รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย ลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปี ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำมันตึงตัว อาจทำให้บางประเทศเกิดการขาดแคลนน้ำมันได้
ขณะที่น้ำมันพุ่งขึ้น ภาวะสงคราม ก็ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นเช่นกัน และหากสงครามยืดเยื้อมากขึ้นอาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะ 1,950 ดอลลาร์ได้ นอกจากนี้สงครามที่ขยายวงกว้างขึ้นไปสู่ตะวันออกกลาง อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ข้อมูลจาก Bloomberg ได้มีการประมาณว่าอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงเหลือ 1.7% เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้ผลผลิตโลกลดลงประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์
ซึ่งในอดีตสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปีค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) นำไปสู่การคว่ำบาตรน้ำมันและเกิดภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นเวลาหลายปี และ ณ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกพึ่งฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ สงครามในประเทศที่ผลิตน้ำมันอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าของสหรัฐด้วยเช่นกัน
สัปดาห์นี้ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์ และ 1,890 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,950 ดอลลาร์ และแนวต้าน 1,970 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 32,800 บาท และ 32,600 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 33,100 บาท และ 33,300 บาท