เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมานี้ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เพิ่งประกาศจัดตั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTIX แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น
โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้บริษัทและหน่วยงานภาครัฐประมาณ 12,000 แห่ง ใน 45 ภาคส่วนสามารถซื้อและขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ และติดตามการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ (GHG) ของแต่ละธุรกิจได้บนกระดานซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถร่วมมือและวางแผนลดการปล่อยคาร์บอน และ GHG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ถึงแม้แนวคิด ‘ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต’ เพื่อจูงใจให้ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนลดปริมาณ GHG ที่ปล่อยไปในชั้นบรรยากาศ จะเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วตั้งแต่มีพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ขึ้นในปี 1997 และหลายๆ ประเทศเช่น จีนและสิงคโปร์ ก็มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเป็นกิจลักษณะหลายปีมาแล้ว
สำหรับประเทศไทย แนวคิดนี้ถือว่าใหม่ และหลายๆ คนก็อาจยังไม่เข้าใจว่า ‘การซื้อขายคาร์บอนเครดิต’ นี่คืออะไร และยังไม่รู้ว่ามันมีกลไกยังไงถึงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ลดปริมาณ GHG ได้ ถึงแม้นั่นจะหมายถึงการลงทุนยกเครื่องโครงสร้างธุรกิจตัวเองใหม่เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่าเดิม
ในโอกาสดีที่ในที่สุดประเทศไทยก็ได้มีกระดานซื้อขายคาร์บอนเครดิตนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก ‘ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต’ กันว่ามันคืออะไร และทำไมมันถึงเป็นสิ่งที่อาจจูงใจให้ธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการปล่อย GHG ที่ใหญ่ที่สุด มาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมได้
จูงใจให้ธุรกิจลดการปล่อย GHG ด้วยการเปลี่ยน ‘สิทธิในการปล่อยก๊าซ’ ให้เป็น ‘สินค้า’
ในโลกการทำธุรกิจ เป็นที่รู้กันว่าทุกธุรกิจต้องมุ่งลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มกำไรให้ให้บริษัท ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับการลดการปล่อยก๊าซ GHG ที่บังคับให้บริษัทต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้ปล่อย GHG น้อยลง หรือบางภาคส่วนธุรกิจที่อาจต้องหายไปเลยเพราะเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ ‘พลังงานจากฟอสซิล’ ที่ปล่อยคาร์บอนมาก
แต่ในเมื่อการช่วยโลกมันขัดกับแนวทางการทำธุรกิจในโลกทุนนิยมขนาดนี้ ทำยังไงล่ะถึงจะจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ลดการปล่อย GHG ได้
คำตอบก็คือต้อง ‘กำหนดปริมาณ GHG ที่แต่ละบริษัทปล่อยได้’ และทำให้ ‘สิทธิการปล่อยก๊าซ GHG’ กลายเป็น ‘สินค้า’ ที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (carbon credit) ที่ซื้อขายได้ในระบบตลาด เพื่อทำให้ ‘การปล่อย GHG’ มี ‘ราคา’ และกลายเป็นต้นทุนที่ต้องลด หรือเป็นสินค้าที่ไว้ขายเพื่อเพิ่มรายได้ได้ โดยคาร์บอนเครดิตของแต่ละตลาดซื้อขายในแต่ละประเทศ 1 เครดิต ส่วนมากจะเท่ากับปริมาณคาร์บอน หรือ GHG น้ำหนัก 1 ตัน
และคาร์บอนเครดิตนี้อาจจะได้มาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศนั้นๆ หรืออาจจะสร้างขึ้นมาก็ได้
โดยถ้าบริษัทไหนทำกิจกรรมทางธุรกิจอะไรก็ตามที่สามารถลดปริมาณ GHG ในชั้นบรรยากาศได้ 1 ตัน บริษัทนั้นก็จะได้รับคาร์บอนเครดิตไป 1 เครดิต
เรียกง่ายๆว่าถ้าการทำกิจกรรมลดการปล่อย GHG เป็นสิ่งที่ 'ขายได้' บริษัทเอกชนก็จะมี 'แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ' ในการลด GHG มากขึ้น
ในปัจจุบัน ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ
ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบนี้จะถูกดูแลโดยหน่วยงานของรัฐบาลที่จะต้องออกกฎหมายและให้ ‘เครดิต’ หรือ กำหนด ‘ปริมาณ GHG ที่แต่ละบริษัทที่เข้าร่วมจะปล่อยได้ในแต่ละปี’ และทุกบริษัทต้องพยายามทำให้ธุรกิจตัวเองปล่อย GHG ไม่เกินเครดิตที่มี โดยผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษทางกฎหมายตามที่รัฐบาลบัญญัติ
เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาประเมิน บริษัทที่เห็นว่าธุรกิจของตนจะปล่อยปริมาณ GHG เกินที่หน่วยงานกำหนดไว้จะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทที่ ‘มีเครดิตเหลือ’ หรือปล่อย GHG น้อยกว่าโควตาที่ได้ มิเช่นนั้นจะต้องเสียค่าปรับหรือเสียภาษีเพิ่ม
เช่น ถ้าทั้งบริษัท A และบริษัท B ได้รับโควตาให้ปล่อย GHG ได้บริษัทละ 400 ตันต่อปี แล้วปีนั้นบริษัท A ปล่อย GHG ไป 500 ตัน ในขณะที่ B ปล่อย GHG ไป 300 ตัน บริษัท A ก็สามารถไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท A ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองเสียค่าปรับ
โดยจะเห็นได้ว่า วิธีนี้มีข้อดีสำคัญคือ ‘ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมๆ ในอุตสาหกรรมหนึ่งๆ อยู่ในปริมาณที่กำหนด’ เพราะถึงแม้จะมีบางบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตา เพราะการปล่อยปริมาณก๊าซที่น้อยลงในบริษัทหนึ่งจะสามารถชดเชยให้กับอีกบริษัทได้
อีกทั้งยังทำให้หน่วยงานรัฐใช้กฎหมายและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจบังคับให้บริษัทภายในประเทศลดปริมาณ GHG ที่ปล่อยในแต่ละปีได้ เพราะส่วนมากประเทศที่มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบนี้จะกำหนดให้โควตานี้ ‘ค่อยๆ ลดลงในแต่ละปี’ เพื่อบังคับให้แต่ละบริษัทปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ หรือเพิ่มเงินลงทุนในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นบริษัท carbon-neutral หรือ carbon-negative ที่หมายถึง บริษัทที่กำจัดหรือลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่ ‘เท่า’ หรีอ ‘มากกว่า’ ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยไปในที่สุด
ตัวอย่างระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตประเภทนี้คือ Emissions Trading System ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกของโลกที่จัดตั้งขึ้นในปี 2005
ในทางกลับกัน ตลาดซื้อขายคาร์บอนแบบสมัครใจจะไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือกฎหมาย แต่จะจัดขึ้นโดยความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจโดยจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG เอง และถึงปฏิบัติตามไม่ได้ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย
เพราะไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานกลางเข้ามาควบคุม เป้าหมายในการลดการปล่อย GHG นี้จึงมักจะตั้งตามหลักการของการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Target (SBT) เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ตามที่กำหนดไว้ใน ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ปี 2015
และการออก ‘คาร์บอนเครดิต’ หรือ ‘คาร์บอนออฟเซต’ (carbon offset) 1 หน่วย ก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานตัวกลางเข้ามาตรวจสอบควบคุมแล้วประเมินราคาให้เพื่อประกันว่า 1 เครดิตที่ขายนั้นได้มาจากกิจกรรมทางธุรกิจที่ปลอดการปล่อย GHG หรือเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดปริมาณ GHG ในชั้นบรรยากาศจริง
โดยบริษัทที่มักจะมีคาร์บอนเครดิตเหลือขายบริษัทอื่นในระบบนี้ก็คือ บริษัทที่ทำธุรกิจอะไรก็ตามที่ช่วยลดปริมาณ GHG ในชั้นบรรยากาศได้ เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด หรือที่กำลังบูมอยู่ตอนนี้ก็คือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ทำให้บริษัทที่เข้าไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทเหล่านี้ได้ลงทุนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้แบบอ้อมๆ และยังได้คาร์บอนเครดิตเข้าไป ‘offset’ หรือหักลบชดเชยกับปริมาณ GHG ที่ตัวเองปล่อยออกไปในชั้นบรรรยากาศ ทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาผู้บริโภคที่นิยมบริโภคสินค้าหรือใช้บริการจากบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือตลาดของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2014 และดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)
ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากโครงการดังกล่าวจะเรียกว่า เครดิต TVERs ที่องค์กรหรือบริษัทต่างๆ สามารถซื้อไปหักลบชดเชยกับปริมาณ GHG ที่ปล่อยไปในการทำกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ทั้งในระดับ ผลิตภัณฑ์ อีเว้นท์ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว TGO จะเป็นผู้ให้การรับรองการดำเนินงานผ่านโครงการกิจกรรมชดเชยคาร์บอน หรือ Thailand Carbon Offsetting Program (T-COP) และจัดการซื้อขายในระบบทวิภาค (over-the-counter) ซึ่งเป็นการตกลงราคากันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ทำให้คาร์บอนเครดิตของแต่ละโครงการของแต่ละบริษัทมีราคาไม่เท่ากัน
จากข้อมูลของ TGO กิจกรรมลดการปล่อย GHG ที่ทำราคาสูงที่สุดในประเทศไทยคือ ‘กิจกรรมฟื้นฟูป่าไม้’
โดยการออกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการในไทยครั้งนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการยกระดับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยให้พัฒนาไปอีกขั้น เพราะมันเป็นการสร้างโครงสร้างระบบซื้อขายเพื่อรองรับการพัฒนาไปเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ‘แบบมีกฎหมายบังคับ’ ในอนาคต ซึ่งตามแผนของ TGO ควรจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นก่อนปี 2027
และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศ carbon-neutral ภายในปี 2050 และ net-zero emission ภายในปี 2065 ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 261) ณ เมืองกลาสโกว์ เมื่อปลายปี 2021 และเป็นอีกหนึ่งระบบเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยให้โลกพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ที่มา: TGO, CarbonCredits, Bloomberg