หลังจากพระราชพิธีเสกสมรสของพระราชวงศ์บรูไน เจ้าชายอับดุล มาทีน พระราชโอรสในสุลต่านฮัสซานัล โบเกียห์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน และ”อนิชา รอสนาห์ คาเลบิก” หญิงสาวสามัญชน ที่ได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เกือบ10 วัน
เชื่อว่าหลายคนสนใจประเทศ บรูไน หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนของเรามากขึ้น บทความนี้ SPOTLIGHT พาทุกคนมารู้จักกับประเทศบรูไนในตอน “เปิดขุมทรัพย์ ‘บรูไน’ ประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ”
บรูไน มีชื่อเต็มว่า เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam) มีเมืองหลวงที่ชื่อว่า บันดาร์เสรีเบกาวัน (ที่แปลว่า เมืองท่าอันเป็นศรีแห่งพระเจ้า) โดยมีศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรกว่า 67% นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนหนี่, พุทธ 13%, และคริสต์ 10%
บรูไน ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันที่ได้แก้เมื่อปี พ.ศ. 2527 ได้กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ นั่นคือเป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สำหรับการใช้กฏหมายของบรูไน มีความน่าสนใจค่ะ เพราะปัจจุบันบรูไนบังคับใช้ กฎหมายชารีอะห์ หรือ กฎหมายอิสลาม อย่างเต็มรูปแบบในปีพ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกรอบกำหนดแนวทางการใช้ชีวิตของประชาชน รวมถึงการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การทำธุรกรรมสัญญา ไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว (บรูไนถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่บังคับใช้ กฎหมายซารีอะห์นี้ ทำให้ปัจจุบันมี 11 ประเทศนับถือศาสนาอิสลามที่บังคับใช้กฎหมายนี้ค่ะ)
และเกร็ดน่ารู้ของบรูไนอีกเรื่องคือ สีเหลือง-ทอง จัดว่าเป็นเป็นสีของสุลต่านและราชวงศ์ ทําให้ประชาชนคนธรรมดาต้องละเว้นการใส่เสื้อสีเหลือง-ทอง เเละสีสุภาพคือสีดำค่ะ ดังนั้นจากพิธีเสกสมรสระหว่าง เจ้าชายอับดุล มาทีน และ อนิชา รอสนาห์ คาเลบิก เราจึงเห็นผู้คนใส่ชุดสีดำเป็นจำนวนมากนั่นเอง
บรูไน จัดเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านพลังงาน มีทั้งแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2472 จนทำให้ปัจจุบันบรูไนมีบ่อน้ำมันบนพื้นดิน 3 แห่งและตามแนวชายฝั่งอีก 8 แห่ง รวมถึงภาครัฐมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก 19 แห่ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ปิโตรเคมี
แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินี้ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการทำรายได้และขับเคลื่อนประเทศเลยก็ว่าได้ โดย GDP ของบรูไนกว่า 60% พึ่งพาทรัพยากรน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และหากนับมูลค่าส่งออกแล้ว น้ำมันคือสินค้าส่งออกมากถึง 95% ซึ่งจัดว่าเป็น 94% ของรายได้ภาครัฐในแต่ละปี
ข้อมูล SCB EIC พบว่า บรูไนเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ราว 2 แสนบาร์เรล/วัน
และเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยสามารถผลิตได้ 1.2 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มีบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (Brunei National Petroleum Company Sedirian Berhad หรือ Petroleum BRUNEI) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ด้วยการนำรายได้จากการส่งออกน้ำมันและพลังงานไปลงทุนหรือร่วมทุนในต่างประเทศ ที่ดำเนินงานผ่าน Brunei Investment Agency (BIA) ในรูปแบบการถือหุ้นหรือซื้อพันธบัตรในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์เป็นผู้ให้คำปรึกษา
และจากการเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ใต้ดิน และมาตราการอุ้มราคา (subsidize) ของรัฐบาล ทำให้บรูไนนิยมขับรถยนต์อย่างมาก เนื่องจากน้ำมันมีราคาถูก ซึ่งจัดว่าราคาถูกเป็นอันดับ 10 ของอาเซียน โดยเฉลี่ยแล้วราคาน้ำมันเบนซิน 14.09 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซล 8.24 บาท/ลิตร
บรูไน จัดว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน มีเพียง 445, 373 คนและมีขนาดพื้นที่เล็กเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ แต่บรูไนจัดเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประชาชนมีกำลังซื้อสูง
โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ประมาณ รายได้ต่อหัว(Income per capita) ของบรูไนปี 2565 สูงถึง 28,954 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 103,0648 บาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และหากเทียบรายได้ต่อหัวกับประเทศไทยแล้ว พบว่า มีอัตราสูงกว่าไทยเกือบ 6 เท่า
นอกจากนี้ บรูไนยังมีจำนวนประชากรในวัยทำงาน หรือ กลุ่ม Labor force มากถึงราว 70% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มตอบสนองต่อกลยุทธ์ทางการตลาดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ปัจจุบัน บรูไนกำลังพยายามเปลี่ยนแปลง จากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น (Economic diversification) เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันสำรองที่ยืนยันแล้ว (proven reserve)
ทำให้บรูไนเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และไอที ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานจากแหล่งใหม่ๆ เพื่อทดแทนกว่า 10 %
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลยังกระจายการลงทุนภาคเศรษฐกิจ ให้มีความหลากหลายได้ล่าช้า จึงเป็นเหตุให้บรูไนยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนสูงถึง 90 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
องค์กรพัฒนาเศรษฐกิจและความร่วมมือ (Organization of Economic Development and Cooperation) ซึ่งมีประเทศสมาชิกกว่า 25 ประเทศ ได้ประกาศว่า บรูไนได้เปลี่ยนสถานะจาก’ประเทศกำลังพัฒนา’ เป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2539 โดยมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ สูงเกือบที่สุดในอาเซียน (รองสิงค์โปร์) และมีคนบรูไนได้รับการศึกษากว่า 97.2% ของประชากร
แม้ว่าบรูไน จะไม่มีธนาคารแห่งชาติ หรือธนาคารกลาง และ การเงิน การคลังของรัฐบาล ขึ้นอยู่กับนโยบายบริหารของกระทรวงการคลังผ่าน Treasury Board, Currency Board และ Brunei Investment Agency
แต่บรูไนได้นำเงินของตนผูกติดกับเงินของสิงค์โปร์ โดยมีการลงนามตกลงอัตราค่าเงินในปีพ.ศ.2510 โดยกำหนดให้เงินทั้ง 2 สกุลเท่ากัน ดอลลาร์บรูไน (BND) =ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ดังนั้น เราจึงสามารถใช้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในการจับจ่ายซื้อสินค้าที่บรูไนได้เลย หรือสามารถใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งในการติดต่อทางธุรกิจได้
จากการลงนามตกลงอัตราค่าเงิน สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ระหว่างประเทศกับประเทศสิงค์โปร์ มีความแน่นแฟ้นมาก มาจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ บรูไน-สิงค์โปร์ ยังมีข้อตกลงในการอบรมทหารร่วมกัน ในบรูไนมีทหารสิงค์โปร์เกือบ 500 นาย เพื่อทำหน้าที่เป็นครูฝึกให้แก่ทหารบรูไน
อ้างอิง : SCB EIC