แฟนๆโอรีโอ้ปั่นภูเขาไฟ เมนูเด็ดจากตู้เต่าบิน เตรียมตัวต้องจ่ายแพงขึ้นจากการที่ เต่าบิน ออกจดหมายแถลงการณ์ ขอปรับราคาเมนูที่มีส่วนผสมของ โกโก้ ทุกเมนูเพิ่มขึ้นเมนูละ 5 บาท โดยราคาที่ปรับขึ้นจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ด้วยปัญหาวิกฤตการณ์เมล็ดโกโก้ขาดแคลนทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
โอรีโอ้ปั่นภูเขาไฟ ราคาปัจจุบัน 55 บาท ราคาใหม่ 60 บาท
โกโก้เย็น ราคาปัจจุบัน 35 บาท ราคาใหม่ 40 บาท
โกโก้โปรตีน ราคาปัจจุบัน 60 บาท ราคาใหม่ 65 บาท
ดังนั้นวันนี้ Spotlight จะมาพาไปเจาะถึงสาเหตุว่าอะไรทำให้ราคาโกโก้ถึงพุ่งสูงขึ้นในเวลานี้ และแนวโน้มราคาโกโก้จะเป็นอย่างไรต่อไป?
ราคาเมล็ดโกโก้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาและได้พุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดูได้จาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของโกโก้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในเวลาสามเดือน สูงสูงสุดเป็นประวัติการณ์สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การเพาะปลูกโกโก้ในฟาร์มขนาดเล็กที่แอฟริกาตะวันตก ไปจนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความซับซ้อนของตลาดซื้อขายล่วงหน้า
นอกจากนี้ราคาโกโก้ที่พุ่งสูงขึ้น ยังเกิดจากความปั่นป่วนทางการเงิน เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ช็อกโกแลตจะแพงขึ้นและปริมาณอาจจะลดลงด้วย และคาดว่าราคาโกโก้ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี โดยนักเศรษฐศาสตร์มีคำกล่าวที่ว่า วิธีแก้ไขปัญหาราคาแพง คือการตั้งราคาที่สูงนั่นเอง เพราะจะช่วยลดความต้องการและกระตุ้นให้มีการเพิ่มผลผลิต แต่ในกรณีของโกโก้แนวคิดนี้ใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะมีความซับซ้อนของตลาด และข้อเท็จจริงที่ว่า ต้นโกโก้ใช้เวลาเติบโตค่อนข้างนาน
โกโก้นั้นแตกต่างจากพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ที่ส่งออกสู่ตลาดโลก เพราะโกโก้นั้นไม่ได้เพาะปลูกแบบไร่ขนาดใหญ่ แต่มาจากเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโกโก้หลักของโลกมาหลายสิบปี โดยประเทศ ไอวอรี่โคสต์และประเทศกานา ซึ่งคาดว่าผลิตโกโก้ได้ 53% ของโลกในฤดูกาลปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขเคยสูงกว่านี้
สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ผลผลิตโกโก้ลดลง อาทิ
ราคาซื้อขายล่วงหน้าของโกโก้ในตลาดนิวยอร์กและลอนดอน แพงกว่าที่เคยเป็นมาในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ ทะลุระดับสูงสุดที่เกิดขึ้นในปี 1977 ซึ่งขณะนั้นโลกก็กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนโกโก้เช่นกัน โดยสัญญาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งสูงขึ้นถึง 10,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม และนับตั้งแต่นั้นมา ก็มีการซื้อขายกันเหนือระดับ 9,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่โกโก้ในลอนดอนอยู่ที่ประมาณ 8,000 ปอนด์สเตอริง (13,624 ดอลลาร์สิงคโปร์) ต่อตัน ก่อนหน้านี้ ราคาซื้อขายในตลาดนิวยอร์กส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงปี 1980
การขาดแคลนโกโก้ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือตัวขับเคลื่อนของราคาที่พุ่งสูงขึ้น คาดว่าโลกจะขาดแคลนโกโก้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว องค์การโกโก้นานาชาติ (ICCO) คาดการณ์ว่าปริมาณโกโก้ในปี 2024 จะไม่เพียงพอกับความต้องการถึง 374,000 ตัน ขณะที่บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่อย่าง Barry Callebaut คาดว่าจะขาดแคลนมากถึง 500,000 ตัน หรือประมาณ 10% ของตลาดโกโก้โลกเลยทีเดียว
จากปัญหาการขาดแคลนโกโก้ที่เกิดจากปัญหาทางการเพาะปลูกถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาโกโก้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์จาก Citi Research คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าราคาซื้อขายโกโก้จะอยู่ระหว่าง 7,000 ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน แต่ล่าสุดราคากลับพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีแรงผลักดันทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เหตุผลก็คือ ผู้ค้าโกโก้จะใช้ตลาดซื้อขายล่วงหน้าในการป้องกันความเสี่ยงของสินค้าที่พวกเขามีอยู่ในมือ คนที่เก็บโกโก้ไว้หวังว่าราคาจะขึ้น แต่พวกเขาก็ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงด้วยการวางเดิมพันว่าราคาจะลดลงด้วยเช่นกัน สำหรับวิธีการป้องกันความเสี่ยงคือ
การป้องกันความเสี่ยงแบบนี้จะได้ผลดี ถ้าราคาสินค้ามีทั้งขึ้นและลง และจะต้องอยู่ในช่วงที่ไม่หวือหวามาก แต่ปัญหาเกิดขึ้นอีกเมื่อตลาดเกิดการเคลื่อนไหวไปในทางเดียวอย่างรุนแรง สาเหตุเพราะผู้ค้าจะต้องวางหลักประกันเพิ่มในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของเขา ดังนั้นถ้าราคาพุ่งสูงขึ้นเพียงอย่างเดียวแบบรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายในการวางหลักประกันเพิ่มก็จะแพงมากขึ้น และอาจมากเกินกำลังที่จ่ายได้ สถานการณ์นี้จะบีบให้ผู้ค้าบางรายต้องปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีอยู่ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องทำโดยการซื้อสัญญาโกโก้เพิ่ม ทำให้ราคาโกโก้ในตลาดพุ่งสูงขึ้นอีก
ด้านตลาดหลักทรัพย์ Intercontinental Exchange ก็มีมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาด เช่นการลดปริมาณโกโก้ที่ผู้ค้าจะสามารถซื้อขายผ่านได้ในตลาดลอนดอน โดยจำกัดปริมาณจัดส่ง (delivery limit) จาก 75,000 ตันในเดือนพฤษภาคม ลดลงมาเป็น 50,000 ตันในเดือนกรกฎาคม และลดลงเรื่อยๆ จนถึง 25,000 ตัน ในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไป
หลังจากที่เหล่าผู้ผลิตช็อกโกแลตพยายามทุกวิถีทางในการรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งปรับราคาขายปลีก ลดขนาดบรรจุภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดปริมาณโกโก้ในผลิตภัณฑ์ แต่การปรับตัวเหล่านี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น บริษัทต่างๆมักจะวางแผนป้องกันความเสี่ยงของราคาและจัดหาโกโก้ล่วงหน้าไว้ก่อน ดังนั้นผลกระทบจากราคาซื้อขายล่วงหน้าที่พุ่งสูงขึ้นในรอบนี้เลยยังไม่ส่งผลถึงชั้นวางสินค้าในร้านค้าอย่างเต็มที่ ผู้วิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตช็อกโกแลตจะเจอกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอีกราว 6-12 เดือน และหลังจากนั้นผู้บริโภคจะเป็นคนแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย จนส่งผลกระทบไปถึงโรงงานแปรรูปโกโก้และแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ด้วย โรงงานในกานาต้องปิดบริการเป็นบางช่วงเนื่องจากโกโก้ขาดแคลน บริษัทแปรรูปโกโก้รายใหญ่ Barry Callebaut และ Blommer Chocolate ก็ประกาศจะปิดโรงงาน และปลดพนักงานบางส่วนออกเช่นกัน
ในระยะยาว ราคาโกโก้ที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร ซึ่งได้รับค่าจ้างที่ต่ำมานานหลายปี แต่ในตอนนี้ เกษตรกรในประเทศผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ของโลก กลับเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ราคาพุ่งขึ้นเต็มที่ สาเหตุก็คือ รัฐบาลในไอวอรี่โคสต์และกานาเป็นผู้กำหนดราคาโกโก้โดยอ้างอิงจากยอดขายโกโก้ในปีก่อนหน้า เกษตรกรไอวอรี่โคสต์ได้รับค่าโกโก้เพียง 1,000 ฟรังก์ CFA (เท่ากับประมาณ 67 บาทไทย) ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ฝั่งกานารับอยู่ที่ 20,928 เซดี(ประมาณ 6,630 บาทไทย) ต่อตัน
ด้านเกษตรกรในไอวอรี่โคสต์ผลักดันให้มีการจ่ายค่าโกโก้เพิ่มขึ้นสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวช่วงกลางปี (เริ่มเมษายน) แต่หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมของประเทศเสนอให้คงราคาเดิมตามรายงานของ Bloomberg ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในตลาดเสรี เช่น บราซิล เอกวาดอร์ แคเมอรูน หรือไนจีเรีย กำลังเร่งเพิ่มผลผลิตเพื่อโกยกำไรจากราคาที่สูงขึ้น
ฝั่งประเทศบราซิลและแคเมอรูนก็หวังที่จะเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นเป็นสองเท่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ ส่วนเอกวาดอร์ตั้งเป้าที่จะผลิตโกโก้ให้ได้ 800,000 ตันภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้เอกวาดอร์แซงหน้ากานาขึ้นไปเป็นผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่อันดับสองของโลก รองลงมาจากไอวอรี่โคสต์ แต่ต้องไม่ลืมว่า ต้นโกโก้ใช้เวลาในการเจริญเติบโต ดังนั้นต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี กว่าโกโก้จากฝักใหม่ๆ จะถูกส่งเข้าตลาดได้ นอกจากนี้ กฎระเบียบของสหภาพยุโรป ที่ห้ามการค้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า อาจเป็นตัวจำกัดการขยายพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ ส่งผลให้ปริมาณโกโก้ในภูมิภาคที่บริโภคช็อกโกแลตเยอะที่สุดในโลกนี้อาจลดลงไปด้วย
สุดท้ายนี้การฟื้นตัวของโกโก้ในตลาดยังไม่น่าเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คาดว่าปริมาณโกโก้จากการเก็บเกี่ยวช่วงกลางปี ในประเทศไอวอรี่โคสต์ ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นขึ้น จะน้อยกว่าปีที่แล้ว และมีบางส่วนคาดการณ์ว่าฤดูกาลหน้าก็จะขาดแคลนโกโก้อีกเช่นกัน และในขณะเดียวกัน ราคาช็อกโกแลตที่พุ่งสูงขึ้นก็ทำให้ความต้องการลดลงอยู่แล้ว ผู้บริโภคซื้อช็อกโกแลตน้อยลง
ที่มา bloomberg และ businesstimes