ถ้าหากทำงานไปแล้วไม่มีความสุข ลาออกดีกว่าไหม ว่าแต่ถ้าตัดสินใจลาออกจริงๆ มีประเด็นอะไรต้องคิดบ้าง พรี่หนอมขอแชร์ไอเดียเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจและการจัดการการเงินให้ฟังครับ
อันดับแรกคงเป็นเรื่องการตัดสินใจของเราก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโอกาส ความก้าวหน้า สังคม หรือแม้แต่เรื่องของสุขภาพที่สูญเสียไป ถ้าหากมองว่าไม่ไหวจริงๆ แล้ว การลาออกก็ไม่ใช่เรื่องผิดครับ
แต่หลายคนมักจะติดตรงที่ “ภาระ” ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะภาระเรื่องของเงินที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่ต้องจ่าย คนที่เราต้องดูแล และเป้าหมายต่างๆ ที่เราวางแผนไว้ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น !
ดังนั้นเมื่อใจพร้อม แต่กายบอกว่าใจเย็นก่อน สิ่งที่เราต้องเช็คให้ดี คือ การเงินที่เรามีพอไหวไหม โดยเช็คจากหลัก 3 ข้อนี้ครับ
แน่นอนว่าการตัดสินใจลาออก ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของเราทันที เมื่องานไม่มี เงินก็ไม่ตามมา สิ่งที่สำคัญคือถามตัวเองว่า แล้วจะอยู่อย่างไร สำหรับบางคนอาจจะตัดสินใจได้ง่าย ถ้าหากมีทางไปให้เลือกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นรายได้เสริมที่มีอยู่ หรือ รู้ตัวว่ามีเงินสำรองพอไหวที่จะรอให้เราหางานใหม่ได้ทันเวลา
โดยปกติแล้วเรามักจะได้ยินคำแนะนำว่า เราควรมีเงินสำรองไว้สำหรับรายจ่ายสัก 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อเอามาใช้จ่ายในยามที่รายได้หายไป หรือเกิดเหตุไม่คาดฝัน ดังนั้นถ้าหากใครมีและประเมินความสามารถในการสร้างรายได้ของตัวเองว่าไปต่อ หรือ รอดแน่ ก็แปลว่าเราพอจะไปต่อไหวครับ
แต่สำหรับคนที่อ่านแล้วรู้สึกว่ายากที่จะทำได้ตอนนี้ ขอให้เริ่มต้นจากที่การประเมินตัวเองก่อนครับว่า เราต้องมีรายได้อย่างน้อยเท่าไรต่อเดือนถึงจะพอให้เราอยู่ได้ หรือต้องมีเงินสำรองเท่าไรถึงจะพอไหว เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ
เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องคิด เพราะบางทีรายได้ที่หายไปอาจจะไม่กระทบมาก หากเราสามารถลดรายจ่ายได้ (เน้นที่คำว่า “หาก”) ซึ่งตรงนี้ต้องประเมินตัวเองว่า ภาระในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง และการลาออกส่งผลยังไงกับการใช้จ่ายของเรา เช่น ค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานอาจจะลดลงไป ค่าอาหารการกินอาจจะประหยัดขึ้นได้อีก หรือ หากเราลาออกจริงๆ คนที่เราดูแลอยู่ก็พอเข้าใจในสถานการณ์ทำให้เราสามารถลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนลงไปได้
ดังนั้น การเตรียมการหรือวางแผนรวมถึงการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันครับ ซึ่งในกรณีที่เราสร้างรายได้ใหม่ได้เร็วหรือหางานใหม่ได้ทันที (หรือก่อนที่จะลาออก) เรืองนี่อาจจะไม่ใช่ปัญหามากนัก แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรประมาทหากสามารถเผื่อเหลือเผื่อขาดตรงนี้ไว้ได้ครับผม
ข้อสุดท้ายเป็นข้อที่อาจจะช่วยเหลือเราต่อได้อีกสักหน่อยครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วการลาออกอาจจะได้รับเงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หากบริษัทมีให้) ซึ่งถ้าหากเรามี ตรงนี้ก็ต้องวางแผนว่า ระหว่างจะเอาเงินออกมา หรือ คงเงินไว้ในกองทุน/โอนย้ายไปที่ทำงานใหม่ หรือ ย้ายไป RMF เพื่อลงทุนต่อ แบบไหนเราได้ประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งหากใครมีเงินเพียงพอก็อาจจะเลือก คงเงิน/โอนย้าย หรือ ย้ายไปที่ RMF เพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนนี้ แต่ถ้าหากต้องการเงินหมุนเวียน ก็อาจจะต้องเลือกนำเงินออกมาจากกองทุนแล้วยอมเสียภาษี เพื่อรักษาสภาพคล่องของตัวเองให้ดีก่อนครับ
สิ่งที่อยากจะสรุปไว้ก็คือ หากเราคิดจะลาออกจากงาน (ด้วยตัวเอง) เราควรเตรียมความพร้อมไว้ในระดับหนึ่งหากสามารถทำได้ แต่เอาเข้าจริง บางทีชีวิตมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ ซึ่งถ้าหากมันเกิดปัญหาเรื่องอื่นที่กระทบกับชีวิตมากกว่าเรื่องเงินจริง ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นการรักษาชีวิตไว้ก่อนก็ได้ครับ
แต่ถ้าหากมีโอกาสหรือยังไหว หรือพอมีเวลา อยากให้เตรียมตัวไว้ให้พร้อมกับเรื่องพวกนี้ เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรและตอนไหน หากมีความพร้อมทางด้านการเงินรอไว้ได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ
สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังให้ทุกคนครับ ขอให้เจองานที่ดีที่เราทำมันได้โดยที่ไม่คิดอยากจะลาออกครับผม
บทความที่ผ่านมาของ TaxBugnoms
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms