จากวิกฤตโลกเดือดที่ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบในทุกมิติ การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ‘Net Zero’ กลายเป็นภารกิจร่วมกันของคนทั้งโลก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดว่า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2027 ซึ่งปัจจุบันอุณหภูมิของโลกขึ้นไปที่ 1.42 องศาเซลเซียสแล้ว
เร่งเปลี่ยนไทย ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านงาน ESG Symposium 2024
สาเหตุสำคัญ คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในภาคพลังงาน ภาคการคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักทั่วโลก โดยในการประชุม COP28 มีบทสรุปสำคัญว่า โลกจะเปลี่ยนผ่าน พร้อมเรียกร้องข้อตกลงให้ทุกประเทศลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งเกิดการระดมทุนมากกว่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน
ความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ได้แก่ มาตรการ Taxonomy และ CBAM เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อภาคการผลิต นำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอน แม้ผู้ประกอบการทุกระดับเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ยังทำได้ล่าช้า เนื่องจากวิกฤตด้านพลังงาน เงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงยังขาดแคลนเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น เช่น อากาศแปรปรวน มลพิษ เป็นต้น
‘ESG Symposium 2024' เป็นเวทีระดับประเทศที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ระดมความคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากไทย อาเซียน และระดับโลก เพื่อหาแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน
โดยภายในงาน ได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต่อรัฐบาลในงาน ESG Symposium 2024 บทความนี้ SPOTLIGHT ได้สรุปประเด็นที่สำคัญภายในงานไว้แล้ว
Global Perspective on Green Transition มุมมองระดับโลกต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว
โดย Niamh Collier-Smith, ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย
การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในระดับโลกต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดความก้าวหน้า ในอดีต ตัวชี้วัดเช่น ‘อายุขัย’ และ ‘การศึกษา’ ถูกใช้เพื่อประเมินการพัฒนามนุษย์ แต่สุขภาพของโลกกลับถูกมองข้ามไป ทำให้ในปี 2020 องค์การสหประชาชาติได้ขยายกรอบการพัฒนามนุษย์ โดยเพิ่ม ‘ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม’ เข้าไปด้วย
แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถบรรลุการพัฒนามนุษย์ และการรักษาสุขภาพของโลกได้อย่างสมดุล นี่จึงเป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมุ่งสู่อนาคตที่ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์และการปกป้องสิ่งแวดล้อมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้
ส่วนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นแกนหลักของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยมีโครงการริเริ่มอย่าง ‘Pact for the Future’ และ ‘การกำหนดพันธกรณีระดับประเทศ’ (NDCs) ที่ช่วยกำหนดแนวทางให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามเป้าหมายของความตกลงปารีส
การปรับปรุงพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ทุกๆ ห้าปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกำหนดอนาคตของความยั่งยืนระดับโลก โดยองค์การ UNDP และพันธมิตรระหว่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือมากกว่า 120 ประเทศในการดำเนินพันธกรณีเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถเดินหน้าสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้คือ การจัดแนวการเงินภาคเอกชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ‘ภาคการเงิน’ และ ‘ธุรกิจ’ มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5°C ตามข้อตกลงปารีส โครงการริเริ่มอย่าง ‘Integrated National Financing Framework’ (INFF) ช่วยประเทศต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงการลงทุนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โครงการที่ยั่งยืนมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย เครื่องมืออย่าง ‘SDG Investor Map’ และ ‘Biodiversity Finance Initiative’ (BIOFIN) ได้มอบแนวทางในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แน่ใจว่าอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทั้งมนุษย์และโลกจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
Future Competitive of Energy Transition การแข่งขันในอนาคตของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
โดย Roberto Bocca สมาชิกคณะกรรมการบริหาร - หัวหน้าฝ่ายพลังงานและวัสดุ WEF
การเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทยและภูมิภาคอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงสำคัญ โดยความก้าวหน้าถูกวัดจากสามมิติหลัก ได้แก่ ‘ความเท่าเทียมด้านพลังงาน’ ‘ความมั่นคง’ และ ‘ความยั่งยืน’ แม้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะมีความก้าวหน้าในด้านความมั่นคง และความยั่งยืนด้านพลังงาน แต่การเปลี่ยนผ่านกำลังชะลอตัว โดยเฉพาะในด้านความเท่าเทียม
ปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่ขัดขวางศักยภาพเต็มที่ของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดย 4 อุปสรรคหลัก มีดังต่อไปนี้
- การขาดแคลนเงินทุนสำหรับพลังงานสะอาด
- โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่
- ความยากในการรักษาสมดุลระหว่าง ‘ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น’ และ ‘การลดการปล่อยคาร์บอน’
- การขาดกรอบนโยบายที่ชัดเจน
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ Bocca มองว่า จากงาน ASEAN CEOs Forum ที่ได้เน้นย้ำถึงสามพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
- การปลดล็อกการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- การส่งเสริมความร่วมมือระดับชาติและระดับภูมิภาค
- การเตรียมความพร้อมให้กับสังคมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
หากอาเซียนสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ ประเทศในภูมิภาคจะสามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านพลังงานระดับโลก
Regenerative Case Sharing from China การแบ่งปันกรณีฟื้นฟูในประเทศจีน
โดย Dr. Cai Guan, รองผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนและความเป็นกลางทางคาร์บอนในเมืองอู่ฮั่น
‘ตลาดคาร์บอนของจีน’ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีกฎระเบียบสำคัญสองฉบับที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสูงสุด (Carbon Peaking) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศ
โดยล่าสุด ในปี 2024 มีการปรับปรุงเพิ่มเติมด้วยกฎระเบียบการจัดการการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งได้พัฒนาระบบตรวจสอบ รายงาน และยืนยันการปล่อยคาร์บอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบในตลาด
ความสำเร็จของตลาดคาร์บอนของจีนสามารถเห็นได้ จากทั้งตลาดการซื้อขายคาร์บอนที่บังคับใช้ และตลาดการลดการปล่อยคาร์บอนแบบสมัครใจ นับตั้งแต่การเปิดตัวระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (ETS) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ตลาดมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 19% และราคาคาร์บอนเพิ่มขึ้นถึง 87%
นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนระดับภูมิภาค เช่น ‘ตลาดคาร์บอนของมณฑลหูเป่ย’ ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีน ตลาดคาร์บอนของหูเป่ยมีการสนับสนุน 343 หน่วยงานที่ปล่อยก๊าซหลัก และดึงดูดนักลงทุนสถาบันเกือบ 967 ราย โดยมีการซื้อขายเครดิตคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ 40-45 หยวนต่อตัน
ความพยายามในระดับภูมิภาคนี้ช่วยเสริมสร้างกรอบการทำงานระดับประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศทั้งในท้องถิ่นและในระดับประเทศ เมื่อระบบเติบโตมากขึ้น จีนยังคงพัฒนาองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมผ่านโครงการฝึกอบรมตลาดคาร์บอนจีน (CRC) เพื่อเตรียมผู้มีส่วนร่วมให้สามารถดำเนินการในตลาดที่กำลังพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Thailand Potential for Sustainable Transition ศักยภาพการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย
Energy Transition การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
โดย Dr. Eric Larson, ศาสตราจารย์วิจัย มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน, สหรัฐอเมริกา
การเปลี่ยนแปลงพลังงานของประเทศไทย ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ ‘การผลิตไฟฟ้า’ แต่ต้องการแนวทางที่ครอบคลุม ความโปร่งใส และข้อมูลแบบเปิด จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจ และเพิ่มความเข้าใจของประชาชน
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีตัวแทนจากรัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สหภาพแรงงาน และสหภาพเกษตรกร การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาสามารถรับประกันได้ว่ามุมมองที่หลากหลายจะได้รับการพิจารณา ทำให้กระบวนการนี้เป็นไปอย่างครอบคลุม และตอบสนองต่อความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน
เป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์’ คือ การมองภาพรวมที่ครอบคลุมถึงทุนที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ความยั่งยืนทางการเกษตร และสุขภาพของป่าไม้ จะได้รับการสมดุลกับความต้องการทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสีเขียวที่ครอบคลุมประเทศไทย
Agriculture ภาคเกษตรกรรม
โดย Dr. Nana Kuenkel, ผู้อำนวยการและประสานงานกลุ่มด้านการเกษตรและอาหาร GIZ, เยอรมนี
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากน้ำท่วมรุนแรงและอุณหภูมิที่สูงขึ้นใกล้ระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ความท้าทายเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชไร่และข้าว ที่มีคุณภาพลดลง และการกัดเซาะดินเพิ่มขึ้น
เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ การสำรวจกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญ โครงการที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มรายได้ของเกษตรกรได้ถึง 20% ในขณะที่ลดการใช้ปุ๋ยลงอย่างมาก เทคนิค เช่น การปรับระดับที่ดินด้วยเลเซอร์สามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทานได้ และการฝึกอบรมสามารถช่วยเกษตรกรในภาคปาล์มน้ำมัน ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล
การร่วมมือของประเทศไทย กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีความสำคัญในการกำหนดแนวทางด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาคการเกษตรมีความยืดหยุ่นและสามารถรับรองความมั่นคงด้านอาหารท่ามกลางความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
Regenerative Waste Management การจัดการขยะแบบฟื้นฟู
โดย Belinda Knox, รองกรรมการผู้จัดการ, I-Environment Investment Ltd. (IEI) อิโตชู, สหราชอาณาจักร
ในขณะที่ประเทศไทยมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ‘การจัดการขยะเชิงฟื้นฟู’ ได้กลายเป็นจุดสนใจหลักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ในขณะที่ลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มรายได้แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเพียงอย่างเดียวถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างแหล่งรายได้หลายทางผ่านการจัดการขยะจากบุคคลภายนอกสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ให้กู้เกี่ยวกับความสามารถในการระดมทุนของโครงการเหล่านี้ได้ โดยการจัดสรร 60% ของรายได้ให้กับการดำเนินงานหลักและการส่งออก 40% ที่เหลือไปยังแหล่งรายได้ทางเลือก
ประเทศไทยสามารถสร้างกรอบการจัดการขยะที่แข็งแกร่งซึ่งสนับสนุนทั้งความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการขยะเชิงฟื้นฟูจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดการกับความท้าทายด้านขยะและส่งเสริมแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
The Key Drivers for Inclusive Green Transition ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
1. Saraburi Sandbox: โมเดลเมืองคาร์บอนต่ำ
‘Saraburi Sandbox’ เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี โดยมุ่งหวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ มีความก้าวหน้าในหลายด้าน เช่น การใช้เทคโนโลยี CCUS ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งต้องการการสนับสนุนทางการเงินและการวิจัยเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาป่าชุมชน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างรายได้ให้ชุมชน
2. Circular Economy: การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน
การประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยมีข้อเสนอให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทาง การสร้างศูนย์คัดแยกขยะย่อย และการพัฒนาระบบการจัดการขยะทั้งระบบ เช่น ระบบ EPR (Extended Producer Responsibility) เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดการขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3. Just Transition: การสนับสนุนทรัพยากร
การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ โดยเสนอให้มีความร่วมมือกับภาครัฐและมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ นอกจากนี้ การเข้าถึงเงินทุนและการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประเมินความสามารถในการปรับตัว จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น
4. Technology for Decarbonization: การพัฒนาเทคโนโลยี
การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมุ่งเน้นที่นวัตกรรมการขนส่งสีเขียวและการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบจัดเก็บพลังงาน (ESS) นอกจากนี้ การทดลองใช้เทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมจริงจะช่วยสร้างความต้องการในตลาดและกระตุ้นการลงทุนที่จำเป็น
5. Sustainable Packaging Value Chain: การจัดการบรรจุภัณฑ์
การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าด้านบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนมีความสำคัญ โดยสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยนำเทคโนโลยีในการคำนวณ Carbon Footprint มาช่วยในการวางแผนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุน SMEs ในการเข้าถึงทรัพยากรและเทคโนโลยีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Driving Inclusive Green Transition
โดย ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม, กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลใส่ใจเรื่องภัยธรรมชาติ เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับ ‘ปัญหาโลกเดือด’ และเป็นปัญหาหลักของประชาคมโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมา การผนึกกำลังทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อร่วมเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เกิดความคืบหน้าอย่างมาก เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยได้ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการ Saraburi Sandbox ที่สร้างรายได้ 2.5 ล้านบาทต่อปี ยกระดับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คา์บอนต่ำ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 80% ลดการปล่อยคาร์บอน 1.17 ล้านตันต่อไป ยกระดับนวัตกรรมรีไซเคิ้ลสร้างรายได้ ผ่านโครงการความร่วมมือของ SCG
ส่วนในปีนี้ มีการระดมกำลังกว่าสองเดือน ร่วมแสดงพลังกว่า 3,500 คน โดยถอดบทเรียน 1 ปีที่ผ่านมา สรุปเป็นสี่แนวทาง ดังนี้:
- ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด
- ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว
- พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว
- สนับสนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขัน SMEs
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน
การผลักดันศักยภาพประเทศไทย เพื่อเร่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน
โดย รองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอภัยพิบัติถึง 137 ครั้ง ถูกจัดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบของ ‘climate change’ ส่วนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยเจออากาศ ‘ร้อนจัดมาก’ และล่าสุด จังหวัดในภาคเหนือและอีสานเจอกับฝนตกหนักด้วย
สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลเร่งมือในการจัดการวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยใน 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่า “การปล่อยคาร์บอนเพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 และในปี 2065 เราตั้งเป้าให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมถึงเราต้องเตรียมรับมือภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น”
ซึ่งทางรัฐบาลได้ตั้งเป้า 6 ประเด็นหลัก ดังนี้:
- การจัดการทรัพยากรน้ำ
- ความมั่นคงทางอาหาร
- การท่องเที่ยว
- การสาธารณสุข
- การจัดการทรัพยากร
- การตั้งถื่นฐานของมนุษย์
ทางรัฐบาลเร่งทำงานเรื่องของการแจ้งเตือนภัย โดยมีระบบแจ้งเตือนภัยที่มีการพัฒนาขึ้น ที่สามารถแจ้งเตือนภัยได้อย่างเป็นระบบล่วงหน้า 2-3 วัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ขับเคลื่อนนโยบาย ‘Green Economy’ และต้องปรับ sme ให้ทันกับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องให้การสนับสนุนและประคับประคอง
โดยรัฐบาล ในฐานะ ‘ผู้เสนอกฎหมาย’ ได้พยายามผลักดันร่างพรบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ตั้งกองทุนสภาพอากาศ รัฐบาลจะรับสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอมา
“ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะเปลี่ยนแปลงความท้าทาย ข้อจำกัด เป็นพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน รัฐบาลจะขับเคลื่อนทุกนโยบาย สู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างยั่งยืนและมีสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”