พายุพระพิรุณ จ่อถล่ม ทำไมต้องชื่อนี้ เปิด 10 ชื่อพายุหมุนเขตร้อนจากไทย

23 ก.ค. 67

ทำความรู้จัก พายุพระพิรุณ พายุหมุนเขตร้อน หลังเตรียมจ่อถล่มไทย ทำไมต้องชื่อนี้ พร้อมเปิด 10 ชื่อพายุหมุนเขตร้อนจากไทย มีชื่ออะไรบ้าง ดูเลย!

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนพายุโซนร้อน พายุพระพิรุณ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณเกาะไหหลำ และอ่าวตังเกี๋ย โดยจะเข้าไทยในวันนี้ (23 ก.ค. 2567) ส่งผลต่อสภาพอากาศของประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

อ่านต่อ : สภาพอากาศวันนี้ 23 ก.ค.67 พายุโซนร้อน "พระพิรุณ" ทำเหนือ อีสาน ตะวันออก ฝนหนักถึงหนักมาก

 

เมื่อเห็นประกาศเตือนนี้จากข่าวหลายช่อง อาจทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า พายุโซนร้อน พายุพระพิรุณ (PRAPIROON) ที่อาจเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำ ก่อนเคลื่อนตัวสู่อ่าวตังเกี๋ย ทั้งที่ไม่ผ่านมาประเทศไทยโดยตรง แต่ยังมีชื่อที่ไทยจนตั้งคำถาม วันนี้ Amarin จะพาไปเปิดที่มาของชื่อนี้ พร้อมกับเปิด 10 ชื่อพายุหมุนเขตร้อน ที่ตั้งชื่อโดยประเทศไทยให้เข้าใจกันมากกว่าเดิม

 

พายุหมุนเขตร้อน คืออะไร ?
พายุหมุนเขตร้อน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ส่งผลกระทบต่อประชาชนบริเวณดังกล่าวทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยพายุหมุนเขตร้อนจะหมุนวนด้วยความเร็วสูง ส่งผลให้เกิดลมแรง ฝนตกหนัก คลื่นลมซัด มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 100-600 กิโลเมตร โดยความแรงลมสูงสุดอยู่ที่ 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่านั้น เป็นภัยพิบัติที่ทำให้หลายคนอาจต้องลี้ภัย

ประเภทของพายุหมุนเขตร้อน
1. พายุดีเปรสชัน (Tropical Depression)
พายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิย 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือไม่เกิน 34 นอต โดยมีลักษณะการหมุนของลมไม่ชัดเจน และมีฝนตกปานกลาง บริเวณดังกล่าว

2. พายุเขตร้อน (Tropical Storm)
พายุเขตร้อนมีความรุนแรงกว่าพายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมสูงสุด 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือตั้งแต่ 34 นอต แต่ไม่เกิน 64 นอต มีการหมุนวนของลมที่ชัดเจนมากกว่า มักก่อให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง

3. พายุไต้ฝุ่น (Typhoon)
พายุไต้ฝุ่นเป็นพายุหมุนเขตร้อน ที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และทะเลจีนใต้ มีความเร็วตั้งแต่ 64 นอต หรือความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจมากถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีการหมุนวนของลมรุนแรง และฝนตกหนักต่อเนื่อง

 

pic2

 

ผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อน

  • ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการลำเลียงความช่วยเหลือ และระบบสาธารณูปโภค
  • เกิดอุทกภัย น้ำท่วมขัง ที่จากการฝนตกและคลื่นลม
  • ความสูญเสียและบาดเจ็บของประชาชน จากพายุและน้ำพัด
  • ควาเมสียหายต่อภาคเกษตรกรรม ทำให้ขาดแคลนอาหาร-ผลผลิต
  • ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บ และการสาธารณสุขอื่น
  • ประชาชนสูญเสียที่อยู่อาศัย เกิดเป็นการลี้ภัยและพลัดถิ่น

 

ทำไมพายุหมุนเขตร้อนต้องมีชื่อเรียก
เดิมทีนักอุตุนิยมวิทยา ใช้วิธีเรียกปีที่เกิดพายุ เป็นการติดตามการเกิดพายุนั้น ๆ ซึ่งในบางพื้นที่อาจกินเวลานานกว่าหลายเดือน อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้หลายครั้ง จึงเกิดเป็นการตั้งชื่อให้กับพายุ เพื่อให้การติดตามที่สะดวกของเจ้าหน้าที่ และสามารถติดตามความคืบหน้าจากชื่อเดียวกันในหน้าสื่อได้

การตั้งชื่อเรียกพายุ เป็นการนำรายชื่อที่มีอยู่แล้ว วนกลับมาใช้ตามลำดับตัวอักษร ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับการเสนอจากประเทศที่อยู่บนคาบสมุทรแปซิฟิก ด้านตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ ดังนั้น พายุที่เกิดในประเทศอย่างกัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนิเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และเวียดนาม ทั้งหมดจะใช้ชื่อพายุจากรายชื่อเดียวกัน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดราว 140 ชื่อ

ทั้งนี้ชื่อพายุที่ร่วมกันตั้ง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 รายชื่อ โดยแต่ละชื่อจะเรียงตามลำดับประเทศ อ้างอิงจากภาษาอังกฤษ (A-Z) เริ่มจากกัมพูชาไปจนถึงเวียดนามเป็นอันดับสุดท้าย โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้ครบทั้งหมด 5 กลุ่มแล้ว จึงจะกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 อีกครั้ง

พายุหมุนเขตร้อน จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปตามแหล่งกำเนิด เช่น หากก่อตัวที่มหาสมุทรแอตแลนติดเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก จะเรียกว่า เฮอร์ริเคน (Hurricane) หากก่อตัวบริเวณแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon) หากเกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า ไซโคลน (Cyclone) แต่ถ้าพายุไซโคลนเกิดในทวีปออสเตรเลียเรียกว่า วิลลี-วิลลี (Willy-Willy)

 

พายุพระพิรุณ พายุหมุนเขตร้อน
พายุหมุนเขตร้อน ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือ พายุพระพิรุณ (PRAPIROON) โดยชื่อนี้อ้างอิงจากความเชื่อของประเทศไทย พระพิรุณ หมายถึงชื่อของเทพเจ้าแห่งฝน ผู้ที่ประทานน้ำฝนมาหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลกนี้ ซึ่งพายุพระพิรุณนี้เป็นชื่อพายุหมุนเขตร้อน ในรายชื่อชุดที่ 1 ลำดับที่ 12 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกฝั่งเหนือ

พายุพระพิรุณ ที่เคยเกิดในอดีต

  • ครั้งที่ 1 : พายุพระพิรุณ เมื่อปี 2543 เป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 มีผลกระทบต่อหมู่เกาะรีวกีว และคาบสมุทรเกาหลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 75 ราย
  • ครั้งที่ 2 : พายุพระพิรุณ เมื่อปี 2549 เป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 พัดผ่านและส่งผลกระทบต่อประเทศจีน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 94 ราย
  • ครั้งที่ 3 : พายุพระพิรุณ เมื่อปี 2555 เป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 ส่งผลกระทบต่อกวมและประเทศญี่ปุ่น
  • ครั้งที่ 4 : พายุพระพิรุณ เมื่อปี 2561 เป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 มีผลกระทบต่อประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4 ราย
  • ครั้งที่ 5 : พายุพระพิรุณ ปัจจุบัน 2567 เป็นพายุที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะไหหลำ และอ่าวตังเกี๋ย ประเทศจีน โดยคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงเช้าของวันนี้ (23 ก.ค. 2567)

 

pic1

 

รายชื่อพายุหมุนเขตร้อนจากไทย

  1. พระพิรุณ
  2. มังคุด (เดิมชื่อ ทุเรียน)
  3. วิภา
  4. รามสูร
  5. เมขลา
  6. มรกต
  7. นิดา
  8. ชบา
  9. กุหลาบ
  10. ขนุน

 

ทั้งนี้การเกิดพายุขึ้นแม้ในบริเวณอื่น ที่ไม่ใช่การเกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่การเกิดพายุหมุนเขตร้อน อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อสภาพอากาศของประเทศไทยได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ ก่อให้เกิดความสูญเสียอื่นขึ้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตนเองไปมากกว่านั้น เมื่อมีการประกาศเตือนถึงพายุหมุนเขตร้อน หรือมรสุมอื่น เมื่อต้องเดินทางควรที่จะเตรียมการ เช็กสภาพอากาศ รวมไปถึงเรียนรู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าด้วย

 

ที่มา : unhcr (unhcr.org) / wikipedia.org (th.wikipedia.org) / bbc.com (bbc.com) / scimath.org (scimath.org)

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด