ปชน. เตือนความจำ เพื่อไทย ทวงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท

13 ก.ย. 67

 

ปชน. เตือนความจำ เพื่อไทย รุมจวกไร้นโยบายแรงงาน ทวงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จี้ทำตามที่หาเสียงไว้ ก่อนที่อีก 3 ปีจะมีแต่เจ๊ง  

วันที่ 3 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเป็นวันที่สองนั้น 

นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงนโยบายรัฐบาลว่า ไม่มีเรื่องแรงงานใน 10 นโยบายเร่งด่วน แต่ตอนที่หาเสียง นโยบายแรงงานเป็นนโยบายเรือธง ตนขอเตือนความทรงจำ และตรวจสอบนโยบายขายฝันที่ พรรคเพื่อไทยเคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนเอาไว้ พร้อมยกสโลแกนที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้คือรดน้ำที่ราก เคยเสนอ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น 

ยังจำได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเทคนิคที่มาหลอกให้ผู้ใช้แรงงานลงคะแนนให้เท่านั้น นอกจากเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทแล้ว ตนยังไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรที่ ได้ทำตามสัญญาให้กับพี่น้องแรงงานเลย ไม่รู้ว่าลืม แกล้งลืม หรือเกรงใจกลุ่มนายทุนเจ้าสัว และสาเหตุที่ไม่เลือกกระทรวงแรงงานไว้ในกับกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่สามารถทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ใช่หรือไม่ หรือคนมีอำนาจ ยิ่งใหญ่จากสวรรค์ชั้นไหนมาสั่ง หน้าตาคณะรัฐมนตรี ถึงออกมาเป็นเช่นนี้ แบบนี้มีแต่เจ็บ เจ๊า และเจ๊ง แต่สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือเราได้รัฐมนตรีคนเดิมที่มาจากพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายแรงงาน แม้แต่นโยบายเดียว 1 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับพี่น้องแรงงาน 

จากนั้น นายเซีย เปิดข้อมูลว่า มีโรงงานปิดตัวไป 1,519 แห่ง และถูกเลิกจ้าง จากการปิดโรงงานไปทั้งสิ้น 41,103 คน นี่ไม่ใช่การบริหารงานที่ควรเป็น รัฐบาลแบบไหนที่หาเสียงว่าจะสร้างงานเพิ่มขึ้น แต่บริหารงานจนมีโรงงานปิดตัวมากมาย มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมากขึ้นและถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลอยแพ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่คุ้มครองสิทธิ์ของแรงงาน ทำเหมือนสมรู้ร่วมคิดเอาเปรียบลูกจ้าง 

นอกจากนี้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานก็ลดลง ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนโยบายหรือกิจกรรมส่งเสริมสหภาพแรงงาน ทั้งนี้นายกได้แถลงนโยบายว่าจะเร่งเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และเตรียมเข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD ประเทศไทยจะลงนามเมื่อไหร่ 

ดังนั้น จึงอยากถามนายกรัฐมนตรีว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำตกลงจะเอาอย่างไร เพราะนอกจากไม่มีในคำแถลงนโยบายแล้ว ซึ่งในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการชี้แจงว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจึงไม่แน่ใจว่าโดยเร็วนี่เมื่อไหร่ ชาตินี้หรือชาติหน้า หรือชาติไหน ต่อมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแต่ปรับเฉพาะบางจังหวัด เฉพาะโรงแรม 4 ดาวและมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป และ ล่าสุดรัฐมนตรีได้ออกมาบอกว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแค่บางกลุ่มอาชีพ บางไซส์ของสถานประกอบการ แต่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะปรับเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ บริหารแบบนี้บอกได้เลยว่า 3 ปีไม่มีเจ๊ามีแต่เจ๊งกับเจ๊ง 

"ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้าง หากมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลในทางลบ ก็จะอ้างว่าเป็นมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง แต่พอปรับขึ้น กับเคลมว่าเป็นผลงานของตนเอง ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่เป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน หรือเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี หากเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี คือจริงท่านอย่าได้เสนอหน้าให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก่อน ที่จะมีการประชุมและได้ข้อสรุปร่วมกัน ถ้าพวกท่านไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ควรพิจารณาตนเองด้วย ก่อนที่ประเทศจะเจ๊งไปมากกว่านี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทจะขึ้นได้ไหม ขึ้นได้กี่โมง ค่าครองชีพขึ้นไปไกลแล้ว" นายเซีย กล่าว 

นายเซีย กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่าไปกับคำพูดขายฝัน ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำยังปล่อยให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีก แล้วเกิดขึ้นต่อเนื่องและอีก 3 ปีที่เหลือ เราจะหวังอะไรจากรัฐบาล ส่วนเรื่องกฎหมายลาคลอดตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญจริงๆ ก็ขอให้บอกลูกค้าของพรรคฝั่งรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายด้วย ดังนั้นหวังว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำตอบที่ชัดเจน พี่น้อง แรงงานจะได้รู้ว่าจริงใจ กับแรงงานอย่างที่เคยสัญญาไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูก พี่น้องแรงงานสาปแช่ง และเป็นตราบาปติดตัวไปตลอด หลอกลวงให้พี่น้องแรงงานลงคะแนนให้ แต่กลับไม่สนใจเมื่อมีอำนาจ หากไม่ทำตามที่สัญญาไว้พี่น้องแรงงานจะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้อย่างไร 

ขณะที่ นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน อภิปรายในประเด็นเดียวกัน ถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรม EV อุตสาหกรรม Semi-conductor และในส่วนของอุตสาหกรรม Soft power ที่พูด กว้างๆ เรื่องวัฒนธรรมโดยยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักว่าจะเน้นด้านไหน 

ดังนั้น สะท้อนไปยังนโยบายของรัฐบาลนั้น คือแผนการพัฒนาแรงงานของรัฐบาลนั้นขาดแผนที่ชัดเจน ขาด Master plan ทำให้การพัฒนานั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ ตามเป้าหมายใหญ่โตที่พูด 

รัฐบาลมีฐานข้อมูลกลางหรือไม่ว่าแรงงานอิสระส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมไหน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ขาดข้อมูลกลาง ก็จะพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างสะเปะสะปะ แรงงานอิสระมีความหลากหลายสูงมาก มีทั้งแรงงานตามฤดูกาล รับจ้างทั่วไป แรงงานในการผลิต แรงงานก่อสร้าง แรงงานในภาคบริการ แต่ว่าแต่ละคนอยู่ในอุตสาหกรรมไหนกันบ้างเรากลับไม่มีข้อมูลเลย 

"ผมไม่อยากจะปรามาสโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้นั้นดีและควรที่จะต้องมีคนทำให้ดี แต่ที่ผมอยากจะเน้นย้ำคือท่านต้องอย่าลืม ว่าประเทศที่เขาเริ่มส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ หรือมีซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งนั้น ซอฟต์พาวเวอร์เองก็เป็นเศรษฐกิจรองที่หนุนเศรษฐกิจหลักอีกทีหนึ่ง" นายสหัสวัต กล่าว 

นายสหัสวัต ยังกล่าวว่า รัฐบาลเองไม่เข้าใจปัญหาของแรงงานโดยเฉพาะในมิติการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ได้ทำนโยบายโดยตั้งอยู่บนข้อมูล เมื่อไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง มองไม่เห็นความเป็นไปได้ เป็นนโยบายที่คิดเองเออเอง ไม่ใช่คิดใหญ่ทำเป็น แต่คิดใหญ่ ทำไม่ได้ เพราะไม่มี Master plan ค่อยๆคิดๆ ค่อยๆทำ แล้วสุดท้ายผลก็จะออกมาสะเปะสะปะ ตนอยากเห็นแผนพัฒนาฝีมือแรงงานที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้จริง  จากอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังจะตาย มาสู่อุตสาหกรรมใหม่ มีความมั่นคงทางรายได้ มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่เคยสอดคล้องกัน ทั้งนโยบาย งบประมาณ และการปฎิบัติ แบบที่เป็นมา หากการพัฒนาฝีมือแรงงานล้มเหลวและไม่เกิดขึ้นจริง อาจทำให้มีคนตกงานเพิ่มนับล้านคน และเราต้องนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากที่อื่นมาแทน นั่นเป็นเรื่องที่ตนไม่อยากให้เกิดที่สุด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส