วิธีสังเกตผู้ถูกพิษ "ไซยาไนด์" ขั้นตอนช่วยเหลือ และ "สิ่งห้ามทำเด็ดขาด"

18 ก.ค. 67

ผิวแดง ผิวม่วงคล้ำ วิธีสังเกตผู้ถูกพิษ "ไซยาไนด์" การช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ปลอดภัย เตือน! สิ่งห้ามทำเด็ดขาด เสี่ยงได้รับพิษไปด้วย

จากคดีสะเทือนขวัญ ปี 2566 ที่ น.ส.สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ "แอม" ใช้ สารพิษ ไซยาไนด์ (Cyanide) กระทำการกับเหยื่ออย่างเลือดเย็นนั้น และเป็นอีกครั้งที่ ไซยาไนด์ ถูกใช้เป็น "ทูตสังหาร" กับคดีฆาตกรรมหมู่ 6 ศพ ชาวเวียดนาม สาเหตุมาจากปมหนี้สิน 10 ล้านบาท

ผิดกฎหมายครอบครอง "ไซยาไนด์" โดยไม่ได้รับอนุญาต

แม้กฎหมายของไทย จะตราโทษไว้ว่า "ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" แต่คดีที่มี "ไซยาไนด์" เข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้เกิดขึ้นแล้วใน ปี 2566 และเกิดเหตุซ้ำอีกครั้งใน ปี 2567

ไซยาไนด์มี 3 รูปแบบ

1. รูปแบบของผงสีขาวที่เมื่อแห้งจะไม่มีกลิ่น แต่หากได้รับความชื้นจะเปลี่ยนรูปเป็นแก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งมีกลิ่นฉุน
2. รูปแบบของของเหลว
3. รูปแบบของแก๊ส

อาการของคนถูกวางยา ไซยาไนด์

สำหรับ "ไซยาไนด์" ถือเป็นสารพิษร้ายแรงทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาสั้นมาก ระดับเป็นนาทีหรือชั่วโมง โดยพิษของไซยาไนด์จะไปยับยั้ง การใช้พลังงานจากออกซิเจนของเซลล์ในร่างกาย จึงมีอาการคล้ายภาวะขาดออกซิเจนของอวัยวะต่างๆ และเพิ่มการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดสารพิษทำให้เลือดเป็นกรด อวัยวะที่ใช้พลังงานมาก เช่น สมอง จะได้รับผลกระทบ และมีอาการเป็นอันดับแรก คือ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย สับสน ซึม หมดสติหรือชัก และระบบหัวใจการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

อาการเริ่มจากใจสั่น ความดันโลหิตสูง ต่อมาหัวใจเต้นช้าและความดันตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ การหายใจช่วงแรกจะเร็ว แล้วช้าลงจนหยุดหายใจ อาจมีอาเจียนและปวดท้อง อาการโดยรวมคล้ายคนถูกพิษคาร์บอนมอนนอกไซด์จากการรมควันท่อไอเสียในรถ หากรอดชีวิตจากพิษไซยาไนด์อาจมีผลต่อเนื่อง มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน เนื่องจากสมองส่วน basal ganglion ถูกทำลายถาวร หากเสียรอดชีวิต การตรวจชันสูตรศพสามารถตรวจพบสารไซยาไนด์ในเลือดเพื่อบอกสาเหตุของการเสียชีวิตได้

การรับพิษ

ได้ทั้งการหายใจ และดูดซึมทางผิวหนัง เยื่อบุ และทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว อาการเกิดภายในวินาทีหากได้รับทางการหายใจ ส่วนการกินหรือทางผิวหนังมีอาการหลังสัมผัสเป็นนาทีถึงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

การแก้พิษ

ทำได้โดยให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็น thiocyanate ซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamine ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamine ขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ การช่วยคนถูกพิษไซยาไนด์จึงห้ามช่วยหายใจแบบ mouth-to-mouth เพราะอาจได้รับพิษด้วย

วิธีสังเกตผู้ที่สงสัยว่าถูกพิษไซยาไนด์

ผู้ได้รับสารพิษจะมีลักษณะพิเศษคือผิวแดง (cherry-red) เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง หรือ ผิวม่วงคล้ำได้ ลมหายใจกลิ่นอัลมอนด์หากเกิดพิษจากการสูดดมสาร hydrogen cyanide

วิธีปฐมพยาบาลคนถูกวางยาไซยาไนด์ เตือน! สิ่งห้ามทำเด็ดขาด

สัมผัสกับสารไซยาไนด์ ทางการสูดดม : ให้รีบออกจากพื้นที่ หากไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ให้ก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ อาจจำเป็นต้องได้รับออกซิเจน แต่ห้ามผายปอดด้วยวิธีปากต่อปาก เพราะผู้ช่วยเหลือเสี่ยงได้รับสารพิษไปด้วยฅ

ทางการสัมผัสผ่านผิวหนัง : ให้ถอดชุดออก ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำและสบู่

ทางการกิน หรือ ดื่ม : ให้รีบล้างปาก แต่ห้ามล้วงคอให้อาเจียนเพราะไซยาไนด์จะยิ่งดูดซึมอย่างรวดเร็ว

ทางดวงตา : ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด 10-15 นาที หากสวมคอนแทกเลนส์ให้ถอดออกด้วย

อย่างไรก็ตาม การได้รับสารพิษไซยาไนด์ยังไม่มีวิธีปฐมพยาบาลอย่างเฉพาะเจาะจง ทางที่ดีควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที โดยไทยมี ยาต้านพิษไซยาไนด์ สต๊อกอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถใช้ได้ทุกสิทธิ์การรักษา

อ้างอิงข้อมูลจาก : กระทรวงยุติธรรม, รพ.ศิริราชปิยมหาการุณย์, รพ.พระราม 9

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด